ระดับแนวรับและแนวต้านเป็นหลักการสำคัญหนึ่งในการเทรดฟอเร็กซ์และตลาดการเงินอื่น ๆ มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในกลยุทธ์การเทรดมากมาย และเป็นพื้นฐานของอินดิเคเตอร์และบอทเทรดหลายร้อยและแม้แต่พันชนิด แล้วแนวรับและแนวต้านคืออะไร? มาสำรวจหลักการพื้นฐานและแง่มุมการนำไปใช้งานจริงกันเลย
นิยามหลัก
ระดับแนวรับและแนวต้านทำหน้าที่เป็นขอบเขตของช่วงราคา ซึ่งราคาจะซื้อขายอยู่ในช่วงราคาดังกล่าว ขอบเขตเหล่านี้ปรากฏทั้งในรูปแบบเส้นแนวนอน และเส้นแนวลาดเอียง เมื่อราคามาถึงขอบเขตเหล่านี้ ราคาสินทรัพย์มักจะมีการเปลี่ยนทิศทาง
แนวรับ คือ จุดที่เมื่อราคาไปถึง ราคาจะมีโอกาสตีกลับขึ้นมาจากจุดดังกล่าว เพราะฝั่งผู้ซื้อพยายามที่จะพยุงราคาไม่ให้ตกลงไปกว่าระดับนั้น ในทางกลับกัน แนวต้าน คือ จุดที่ฝั่งผู้ขายพยายามเข้ามาควบคุม และกดให้ราคากลับตัวลงมาด้านล่าง
ในคำนิยมเหล่านี้ เราตั้งใจใช้คำว่า “มัก” หรือ “มีโอกาส” เพราะว่าการกลับตัวของราคาที่ระดับเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนเสมอไป มันอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แทนที่ราคาจะรีบาวด์หรือตีกลับจากแนวรับ ราคาอาจทะลุจนหลุดแนวรับลงไป หรือเมื่อราคาขยับขึ้นไปยังแนวต้าน ราคาก็อาจจะขึ้นต่อไปได้ โอกาสที่จะเกิดการรีบาวด์หรือการทะลุระดับทำให้เราสามารถจัดประเภทได้ว่าแนวรับนั้นแข็งแกร่งหรืออ่อนแอ ซึ่งเราจะอธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ในส่วนถัดไป
ความแตกต่างระหว่างโซนและระดับแนวรับ/แนวต้าน
ในขณะที่ระดับแนวรับและแนวต้านอาจเห็นได้จากเส้นที่ปรากฏบนกราฟ โซนแนวรับและแนวต้านจะแสดงให้เห็นเป็นช่วงของราคา เราเชื่อว่านี่เป็นหลักการที่แม่นยำมากกว่า เพราะราคาแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ณ จุดใดจุดหนึ่งโดยตรง เช่น แนวรับของคู่ EUR/USD อาจอยู่ที่ระดับ 1.1500 แต่ราคาก็อาจกลับตัวไม่ใช่ที่ 1.1500 แต่เป็นที่ราคา 1.1485 (ก่อนถึงระดับ) ได้เช่นกัน หรือที่ 1.1515 (เป็น breakout หลอก) ซึ่งระยะ +/-15 จุดนี่เป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเรียกว่าเป็น “ระยะเฉื่อย”
ความกว้างของโซน (หรือขนาดของระยะ) อาจขึ้นอยู่กับสินทรัพย์แต่ละชนิด (เช่น คู่สกุลเงินในการเทรดฟอเร็กซ์) และกรอบเวลา ในกราฟระยะยาว โซนเหล่านี้อาจกว้างขึ้น ในขณะที่ในกราฟระยะสั้น โซนดังกล่าวมักแคบลง ความผันผวนในปัจจุบันก็ส่งผลด้วยเช่นกัน เช่น ในช่วงที่มีการประกาศข่าวสำคัญ ความผันผวนที่สูงมักทำให้โซนแนวรับหรือแนวต้านกว้างขึ้นมาก เราจะมาพิจารณาตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพกันดังนี้
– คู่สกุลเงิน: สำหรับคู่ EUR/USD บนกราฟวัน (D1) ความกว้างของโซนแนวรับ/แนวต้านอาจอยู่ที่ช่วง 20-50 จุด ส่วนคู่เงินปอนด์อังกฤษ (GBP/USD) ซึ่งมักมีความผันผวนมากกว่า โซนนี้อาจกว้างขึ้นประมาณ 30-60 จุด ในขณะที่คู่ USD/JPY โซนนี้จะค่อนข้างแคบกว่าที่ประมาณ 15-40 จุด อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในนโยบายการเงินของธนาคารเฟดสหรัฐฯ และธนาคารกลางญี่ปุ่นหลังปี 2021 ทำให้ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น และดังนั้นแนวรับและแนวต้านจึงอาจกว้างขึ้นสำหรับคู่นี้
– กรอบเวลา: บนกราฟวัน (D1) ภายใต้เงื่อนไขมาตรฐาน ความกว้างของโซนแนวรับ/แนวต้านมักอยู่ที่ระหว่าง 20 ถึง 60 จุด โดยขึ้นอยู่กับคู่สกุลเงิน บนกรอบชั่วโมง (H1) โซนเหล่านี้จะแคบลงอยู่ที่ประมาณ 10-30 จุด ในกรอบเวลาที่สั้นมาก ๆ (M1-M15) โซนจะยิ่งแคบลงอีกที่ประมาณ 5-15 จุด
– ความผันผวน: ในช่วงเวลาที่มีความผันผวนสูง ความกว้างของโซนเหล่านี้อาจขยายตัว เช่น ในช่วงการประกาศข่าวเศรษฐกิจ โซนของคู่ EUR/USD อาจขยายขึ้นเป็น 70-100 จุดหรือมากกว่า
สิ่งสำคัญคือต้องคำนึงว่า ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงคำอธิบายให้เห็นภาพเท่านั้น และในความเป็นจริงล้วนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในตลาด นักเทรดที่มีประสบการณ์จะปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับความผันผวนในปัจจุบันและปัจจัยอื่น ๆ
วิธีหาระดับแนวรับ/แนวต้าน
ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนจากที่อธิบายไปข้างต้นว่า หลักแนวรับ/แนวต้านจริง ๆ มีองค์ประกอบสองอย่างคือ ระดับและโซน ระดับทางจิตวิทยา เช่น 1.1000 หรือ 1.5000 มักทำหน้าที่เป็นแนวรับ/แนวต้าน เพราะนักเทรดมักจะวางคำสั่งซื้อหรือขายที่บริเวณระดับ “เลขตัวกลม” ดังกล่าว นอกจากนี้ ระดับที่มีปริมาณการเทรดสูงก็มักเป็นแนวรับ/แนวต้านเช่นกัน เนื่องจากนักเทรดจำนวนมากมักให้ความสนใจกับระดับเหล่านี้และมักอยากจะวางคำสั่งเทรดที่บริเวณนี้
ระดับที่มีการทดสอบหลายครั้งและราคา “ยืน” อยู่หลายครั้งถือว่ามีความน่าเชื่อถือมากกว่า หากราคาเข้าใกล้ระดับดังกล่าวหลายครั้ง โดยไม่สามารถทะลุผ่านไปได้ จะยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่ระดับนั้น ๆ จะเป็นแนวรับหรือแนวต้านที่สำคัญในอนาคต
ดล้วเราจะสังเกตแนวรับและแนวต้านในการเทรดจริงได้อย่างไร? วิธีที่ง่ายที่สุดในการหาระดับเหล่านี้คือ การดูการวิเคราะห์กราฟราคา นักเทรดจะมองหาจุดที่ราคาสินทรัพย์พักตัวและกลับทิศทางในอดีต จุดเหล่านี้มีโอกาสเป็นแนวรับหรือแนวต้านได้ บ่อยครั้ง เราจะวาดเส้นแนวนอนผ่านระดับเหล่านี้เพื่อกำหนดระดับ ในบางครั้ง เราจะวาดเส้นสองเส้นขนานกัน เพื่อเป็นกรอบราคาที่ราคาสินทรัพย์ควรจะขยับอยู่ในกรอบนั้น ๆ ทั้งนี้ กรอบราคานั้นเป็นได้ทั้งแนวนอน และกรอบที่ลาดเอียง อีกทั้ง ขอบเขตของกรอบราคาก็อาจเป็นเส้นตรงหรือเส้นโค้งได้ เทอร์มินัลการเทรด MetaTrader 4 อำนวยความสะดวกในการวาดแนวรับแนวต้านโดยใช้เครื่องมือกราฟหลายชนิด รวมถึงอินดิเคเตอร์พิเศษ.
แนวรับ/แนวต้านที่แข็งแกร่งและอ่อนแอ
อะไรคือสิ่งที่แยกระหว่างระดับที่แข็งแกร่งและระดับที่อ่อนแอ? คำถามนี้มีความสำคัญสำหรับนักเทรดทุกคนที่ทำการวิเคราะห์เชิงเทคนิค การเข้าใจการแยกความแตกต่างจะยิ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกลยุทธ์การเทรดของนักเทรด ช่วยในการหลีกเลี่ยงสัญญาณหลอก และเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเทรดได้กำไรมากขึ้น
ปัจจัยที่ชี้ว่าระดับแนวรับหรือแนวต้านมีความสำคัญ คือ
– การยืนยันหลายครั้ง: ระดับที่แข็งแกร่งมักถูกทดสอบหลายครั้ง ยิ่งราคาสามารถยืนที่ระดับนั้น ๆ บ่อยครั้งมากเท่าไหร่ จะยิ่งสามารถป้องกันไม่ให้ราคาทะลุออกไปได้ และจะยิ่งมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น
– ปริมาณการเทรด: ปริมาณการเทรดที่เพิ่มขึ้นจะสังเกตเห็นได้เมื่อราคาขยับถึงระดับที่แข็งแกร่ง ซึ่งบ่งบอกว่ามีความสนใจจากนักเทรดจำนวนมากที่ระดับดังกล่าว
– ความสำคัญในอดีต: ระดับที่แข็งแกร่งอาจเห็นได้จากข้อมูลในอดีต และมักตรงกับระดับทางจิตวิทยา (เช่น ระดับที่ลงท้ายด้วยเลขตัวกลม)
– ปัจจัยพื้นฐานที่สอดรับกัน: ความแข็งแกร่งของแนวรับหรือแนวต้านนั้นยังมีปัจจัยความสอดคล้องกันของปัจจัยพื้นฐานหรือเหตุการณ์ข่าวสารต่าง ๆ
ระดับแนวรับหรือแนวต้านที่อ่อนแอมักจะไม่ถูกทดสอบบ่อยครั้งนัก และมักจะยืนราคาไม่ไหว เมื่อราคาแตะที่ระดับเหล่านี้ การเปลี่ยนแปลงในปริมาณการเทรดมักไม่มีนัยสำคัญมาก อีกทั้ง ราคาที่อ่อนแอจะไม่มีความโดดเด่นในข้อมูลในอดีตและไม่สอดรับกับตัวชี้วัดของปัจจัยพื้นฐาน จึงอ่อนไหวต่อคลื่นรบกวนในตลาดมากกว่า
อินดิเคเตอร์ในการหาระดับแนวรับและแนวต้าน
มายกตัวอย่างอินดิเคเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งใช้หลักการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวในอดีตของราคาเพื่อคาดการณ์เทรนด์ในอนาคต นักเทรดที่มีประสบการณ์มักใช้อินดิเคเตอร์เหล่านี้ประกอบกับอินดิเคเตอร์ตัวอื่น หรือแนวทางและเครื่องมือการวิเคราะห์เชิงเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเทรด
– Moving Averages (MA) อินดิเคเตอร์นี้จะนำข้อมูลราคาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และปรับราคาให้เรียบลงเพื่อหาแนวโน้มที่เกิดขึ้น หากราคาสินทรัพย์อยู่เหนือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (MA) ค่าเฉลี่ยญฯ อาจทำหน้าที่เป็นโซนแนวรับ ในกรณีที่ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่อาจทำหน้าที่เป็นโซนแนวต้าน เช่น เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วัน มักทำหน้าที่เป็นแนวรับที่สำคัญในเทรนด์ขาขึ้น เป็นต้น
– Fibonacci Retracement อินดิเคเตอร์นี้ใช้หลักลำดับทางคณิตศาสตร์ Fibonacci เพื่อสร้างเส้นแนวนอนที่ทำหน้าที่เป็นระดับแนวรับและแนวต้านที่เป็นไปได้ โดยวาดเส้นจากจุดที่สำคัญสองจุด (ราคาสูงสุดและต่ำสุด) บนกราฟที่ระดับ 23.6%, 38.2%, 50%, 61.8% และ 100% ซึ่งทำหน้าที่เป็นระดับแนวรับและแนวต้านที่เป็นไปได้
– Pivot Points (PP) วิธีการที่ง่ายที่สุดในการหา Pivot Point (PP) ซึ่งใช้ในวอลล์สตรีทมาเนิ่นนานหลายสิบปี คือ ราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด และราคาปิดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และนำค่าทั้งสามนี้มาหารด้วย 3 ก็จะได้ผลลัพธ์เป็นค่า PP
– Bollinger Bands อินดิเคเตอร์นี้ประกอบด้วยเส้นสามเส้น ได้แก่ เส้นตรงกลาง (MA) และเส้นสองเส้นเป็นกรอบด้านนอก ซึ่งคำนวณจากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากเส้นตรงกลาง เส้นกรอบด้านนอกนี้ทำหน้าที่เป็นโซนแนวรับและแนวต้าน เมื่อราคาสินทรัพย์ขยับถึงเส้นด้านบน มันอาจทำหน้าที่เป็นแนวต้าน ในทางกลับกัน หากราคาขยับมายังเส้นด้านล่าง มันอาจบ่งชี้ว่าเป็นแนวรับ
กลยุทธ์สำหรับการใช้ระดับแนวรับ/แนวต้าน
– "ซื้อถูก ขายแพง” นักเทรดจะซื้อสินทรัพย์เมื่อราคาขยับมาถึงระดับแนวรับ และขายเมื่อราคาขยับถึงระดับแนวต้านช
– «การเทรด Breakout/Breakdown»: กลยุทธ์นี้คือ การเข้าคำสั่งเทรดเฉพาะเมื่อราคาได้ทะลุแนวรับหรือแนวต้านอย่างชัดเจน และราคายืนอยู่ด้านบนหรือด้านล่างของแนวดังกล่าว
– «การเทรดแบบตีกลับ»: แนวทางการเทรดนี้ คือ การเข้าเทรดเมื่อราคาตีกลับจากระดับแนวรับหรือแนวต้าน
– «กลยุทธ์ False Breakout »: นักเทรดอาจวางคำสั่งซื้อหรือขายที่ระดับแนวรับหรือแนวต้านโดยตรง โดยหวังว่าราคาจะทำการทะลุแบบหลอก “false breakout” หมายความว่าราคาจะกลับทิศทาง
***
โดยสรุปแล้ว การทำความเข้าใจระดับและโซนแนวรับและแนวต้าน รวมถึงความสามารถในการสังเกตเห็นและใช้งานอย่างแม่นยำสามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแสวงหากำไรได้ อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกันกับวิธีการเทรดอื่น ๆ ในตลาดการเงิน มันไม่ได้รับประกันความสำเร็จได้ 100% และยังคงต้องอาศัยการวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง การใช้งานประกอบกับเครื่องมืออื่น ๆ และการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ
กลับ กลับ