บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2022

EUR/USD: ศึกอัตราดอกเบี้ยใกล้จบลงหรือยัง?

  • EUR/USD ได้ขยับขึ้นมาจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม และยังขึ้นไปเหนือระดับสำคัญที่ 1.0000 โดยทำราคาไว้ที่ 1.0092 สาเหตุน่าจะเป็นเพราะความหวังของนักลงทุนบางคนว่า ธนาคารกลางยุโรปจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่แค่ 0.75 แต่จะขึ้นถึง 1.0 หรือมากกว่านั้น แต่ความฝันของพวกเขายังคงเป็นเพียงความฝัน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ธนาคารกลางยุโรปสั่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75 bp จาก 1.25% เป็น 2.0% (ทั้งนี้ ตัวเลขนี้เป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี)

    คำแถลงสุดท้ายของธนาคารกลางฯ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรปมีความคืบหน้ามากแล้วเกี่ยวกับการยกเลิกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) แต่ไม่มีคำใดในเอกสารฉบับนี้ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นประจำในการประชุมครั้งถัด ๆ ไปหรือไม่ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปยังให้ข้อสังเกตที่งานแถลงข่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในยูโรโซนมีแนวโน้มจะชะลอตัวเป็นอย่างมากในไตรมาสที่ 3 ปี 2022 ด้วยเหตุนี้ ตลาดจึงสรุปว่าธนาคารฯ เก็งว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปจะช่วยต้านทานภาวะเงินเฟ้อ โดยไม่จำเป็นจะต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากธนาคารฯ มีท่าทีที่เข้มงวดเหมือนกันกับธนาคารเฟดสหรัฐฯ ท่าทีดังกล่าวประกอบกับราคาเชื้อเพลิงที่ประบสูงขึ้นอาจพาเศรษฐกิจยุโรปดิ่งลงเหวลึกได้

    นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรปจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่แค่ 75 bp แต่ขึ้นเพียง 50 bp ในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 15 ธันวาคม โดยในเดือนมกราคมจะไม่มีการประชุมเกิดขึ้น และอัตราดอกเบี้ยจะขึ้น “เล็กน้อย” เพียง 25 bp ในเดือนกุมภาพันธ์ เป็น 2.75% ซึ่งจะหยุดลงที่นั่น

    ท่ามกลางสถานการณ์นี้ EUR/USD ขยับลดลงต่ำกว่าระดับ 1.0000 อีกครั้ง การเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ช่วยให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยเดิมตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ +2.4% ดัชนีนี้เพิ่มขึ้นจริงที่ +2.6% q/q ใน Q3 ปี 2022 จึงเป็นการหยุดแนวโน้มขาลงที่เคยทำไว้: -1.6% ใน Q1 และ -0.6% ใน Q2

    ในทางหนึ่ง การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจสามารถต้านทานนโยบายการเงินแบบเข้มงวดที่ดุดันของธนาคารเฟดได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็ปรากฏให้เห็นว่า องค์ประกอบที่สำคัญอย่างตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังหดตัวลงอย่างชัดเจน เงินลงทุนลดลงมากกว่า 26% และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนองระยะ 30 ปีขยับถึง 7% ต่อปี ซึ่งลดลงความต้องการในการซื้อบ้านลงเป็นอย่างมาก

    แน่นอนว่าปัจจัยเหล่านี้ไม่น่าจะหยุดธนาคารเฟดไม่ให้ต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้ แต่มันอาจบีบให้ธนาคารฯ ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังมากขึ้น สำหรับการประชุมครั้งถัดไปของธนาคารกลางฯ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ตลาดยังคงมั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.75 bp จาก 3.25% เป็น 4.0% อย่างไรก็ดี ท่าทีถัดไปของธนาคารเฟดในเดือนธันวาคม คาดว่าจะมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอย่างในระดับพอดีที่ 50 bps แต่ถึงแม้ว่าคำคาดการณ์นี้จะออกมาถูกต้องแม่นยำ ค่าความต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของยูโรและดอลลาร์จะยังคงมีอยู่ และจะส่งผลสนับสนุนดอลลาร์สหรัฐ

    EUR/USD ปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 0.9964 นักวิเคราะห์จำนวน 50% เห็นด้วยว่า ราคาจะขยับไปยังทิศใต้ในอนาคตอันใกล้ ส่วนอีก 20% คาดว่าจะมีการปรับฐานไปยังทิศเหนือ และ 30% ที่เหลือโหวตให้กับแนวโน้มไซด์เวยส์ด้านข้าง ทั้งนี้ เมื่อเปลี่ยนเป็นการวิเคราะห์จนถึงสิ้นปี มีผู้เชี่ยวชาญ 80% ที่โหวตให้กับแนวโน้มตลาดหมี ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 มี 40% เท่านั้นที่ให้สีแดง 60% เป็นสีเขียว ในส่วนออสซิลเลเตอร์มี 100% ที่แนะนำให้ซื้อคู่เงินนี้

    แนวรับที่ใกล้ที่สุดของ EUR/USD อยู่ที่ 0.9900 ตามมาด้วย 0.9765, 0.9700, 0.9645, 0.9580 และแนวรับสุดท้ายเป็นราคาต่ำสุดของวันที่ 28 กันยายนที่ 0.9535 ด้านเป้าหมายถัดไปของตลาดหมีคือ 0.9500 สำหรับตลาดกระทิงนั้น ภารกิจอันดับแรกจะเป็นการตัดทะลุแนว 1.0000 จากนั้นจะต้องไปเจอกับระดับแนวต้านที่ 1.0100, 1.0250, 1.030 และ 1.0370

    สำหรับกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในสัปดาห์ที่จะถึงนี้แน่นอนว่าต้องเป็นการประชุมของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการกำกับนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ) ในวันพุธที่ 2 พฤศจิกายน และงานแถลงข่าวที่ตามมาของผู้บริหารธนาคาร นอกจากนี้ ปฏิทินเศรษฐกิจยังไฮไลต์วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม ซึ่งจะมีการประกาศ GDP และสถิติตลาดผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน ตลอดจนปริมาณยอดค้าปลีกในเยอรมนี ด้านดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจของ ISM (PMI) ในภาคการผลิตจะประกาศในวันถัดไปคือวันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน และดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ จะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน นอกจากนี้ เรายังจะต้องติดตามสถิติชุดหนึ่งจากตลาดแรงงานในวันที่ 2 และ 4 พฤศจิกายน ได้แก่ อัตราการว่างงานและจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NFP) ของประเทศ

GBP/USD: เดิมพันยิ่งกว่าชีวิต

  • โดยภาพรวมแล้วถือว่าคู่ GBP/USD เดินตามรอยคู่ EUR/USD ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทำราคาต่ำสุดในรอบห้าวันไว้ที่ 1.1257 และสูงสุดที่ 1.1645 และปิดตลาดที่ 1.1615 ส่วนในสัปดาห์ที่จะถึงหรือช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์ที่จะถึงนี้คาดว่าจะมีความผันผวนมาก เพราะนอกเหนือจากการประชุมของ FOMC ธนาคารเฟดแล้ว ยังมีการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายนด้วยเช่นกัน

    มีซีรีส์ทีวีเก่าเกี่ยวกับการผจญภัยจากโปแลนด์เรื่องหนึ่งชื่อว่า Stake Larger Than Life (เดิมพันยิ่งกว่าชีวิต) ซึ่งในมุมมองของเรานั้น การตัดสินใจของธนาคารกลางอังกฤษต่ออัตราดอกเบี้ยจะเป็นตัวตัดสินว่าเงินปอนด์จะมีชีวิตอย่างไรต่อไป และมันจะต้องเจอกับ “การผจญภัย” มากมายแน่นอน

    ในช่วงที่นโยบายการคลังล้มเหลวอย่างยิ่ง ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินปอนด์จะขยับถึง 3.90% หลังการประชุมเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ดี ความต้องการของนักลงทุนกลับซบเซาเป็นอย่างมาก และพวกเขาอยากให้ขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 2.25% เป็นอย่างน้อย 3.0% ซึ่งขึ้นถึง 75 จุดพื้นฐาน แต่นักยุทธศาสตร์ธนาคาร ING ซึ่งเป็นเครือธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์เชื่อว่า โอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 50 จุดนั้นสูงกว่าในเวลานี้ และนี่เป็นปัจจัยเชิงลบต่อเงินปอนด์ ดังนั้น ถ้าขึ้นต่ออีกจะยิ่งทำให้ยากลำบากกว่าเดิม “คู่ GBP/USD อาจปรับฐานต่อไปยังบริเวณ 1.1750 แต่เราไม่คิดว่าแนวโน้มขาขึ้นนี้จะอยู่ได้นาน” ING ระบุ

    มุมมองในทางตรงกันข้ามกันเป็นของธนาคาร Scotiabank ซึ่งชี้ว่า แม้ว่าเงินปอนด์จะทะลุขึ้น 1.1650 ไม่สำเร็จเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม คู่นี้จะยังคงแนวโน้มบวกต่อไปในช่วงสองถึงสามสัปดาห์หน้า และระดับแนวรับหลักจะเป็นระดับที่ 1.1400

    สำหรับการคาดการณ์ในระยะกลาง ในที่นี่มีนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (50%) เห็นด้วยกับฝั่งตลาดหมี 15% มีความเห็นเป็นกลาง ในส่วนจำนวนผู้สนับสนุนว่าเงินปอนด์จะแข็งค่าขึ้นมี 35% ด้านออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 100% แสดงสัญญาณสีเขียว แต่หนึ่งในสี่ของจำนวนนี้ชี้ว่าราคาอยู่ในโซนแรงซื้อมากเกินไป (overbought) แล้ว สำหรับอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 35% เท่านั้นที่ให้สัญญาณสีแดง และ 65% เป็นสีเขียว ด้านระดับและโซนแนวรับของเงินปอนด์อยู่ที่ 1.1550, 1.1475-1.1500, 1.1400, 1.1350, 1.1230, 1.1100, 1.0985-1.1000, 1.0750, 1.0500 และระดับต่ำสุดของวันที่ 26 กันยายนที่ 1.0350 ทั้งนี้ เมื่อราคาคู่นี้ขยับไปยังทิศเหนือ กระทิงจะเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.1645, 1.1720, 1.1830, 1.1900, 1.1960, 1.2135 และ 1.2200

    ในส่วนของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เรายังต้องให้ความสนใจกับดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ของภาคการก่อสร้างในอังกฤษที่จะประกาศในวันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน

USD/JPY: ปริศนาการทรุดตัวของคู่นี้ได้รับการเปิดเผยแล้ว

  • อย่างที่เราเคยทำนายไว้ในเดือนพฤษภาคม USD/JPY ขยับถึง 115.00 ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและราคาขยับถึง 151.94 ในวันศุกรที่ 21 ตุลาคม โดยทำระดับสูงสุดในรอบ 32 ปีในครั้งนี้ แต่ทุกอย่างก็มีความชัดเจนดีตั้งแต่ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนต้องประหลาดใจคือการแห่เทขายครั้งใหญ่ที่ตามมา ราคาคู่นี้ทรุดตัวลงกว่า 500 จุดในเวลาไม่กี่นาทีจาก 151.63 เหลือ 146.24 ซึ่งรายงานจาก Financial Times ระบุว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขายสินทรัพย์อย่างน้อย $30 พันล้านดอลลาร์ในเวลานั้นเพื่อพยายามสนับสนุนเงินเยน ผลปรากฏว่าคู่นี้กลับตัวขึ้นอีกครั้งหลังจากการแทรกแซงดังกล่าว จึงชัดเจนว่าเงิน $30 พันล้านนั้นไม่เพียงพอ การแทรกแซงอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นตามมาในวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม ส่งผลให้ราคาคู่นี้ตกลงมาที่ 145.48 และหลังจากนั้นก็ดีดตัวขึ้นอีกครั้ง โดยทำระดับต่ำสุดในสัปดาห์ที่แล้วไว้ที่ 145.10 ในขณะที่สถิติล่าสุดเคยทำไว้สูงกว่ามากที่ 147.40 มันจึงค่อนข้างผิดปกติที่ความผันผวนขึ้น ๆ ลงๆ ของเงินเยนดังกล่าวเกิดขึ้นแม้ว่าล่าสุด นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ เคยกล่าวไว้ว่า “การเคลื่อนที่แบบด้านเดียวของเงินเยนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์”

    ความผันผวนที่มากเกินไปดังกล่าวใน USD/JPY บ่งชี้ว่า กระทรวงการคลังและธนาคารกลางญี่ปุ่นจะต้องทำงานหนักเพื่อยับยั้งความต้องการถือเงินดอลลาร์และทิ้งเงินเยนที่มีปัญหา “ทางการญี่ปุ่นมีความลังเลใจเป็นอย่างมาก” นักวิเคราะห์ ING แสดงความเห็น “เราเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าทำไมพวกเขาไม่ขีดเส้นไว้ที่ 150.00 เนื่องด้วยตลาดที่มีความผันผวนสูง แต่การอนุญาตให้เงินเยนทะลุสูงขึ้น พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกเทขายอย่างหนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่โตเกียวตั้งใจจะยับยั้งไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว”

    "หากธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ดำเนินการอย่างเข้มงวดมากขึ้น การแทรกแซงในตลาดฟอเร็กซ์จะยังคงเป็นตัวเลือกที่ได้ผลมากที่สุด” ING ตั้งข้อสังเกต แต่เราเห็นได้ชัดเจนว่า BoJ จะไม่เพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงิน ธนาคารฯ ยังคงยึดถือแนวทางของตนเองในที่ประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ติดลบที่ระดับ -0.1% ในขณะนี้ ราคาคู่นี้จะขึ้นอยู่กับว่า BoJ มีเงินเพียงพอที่จะแทรกแซงเพื่อต้านทานการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ได้หรือไม่

    ในขณะนี้ นักวิเคราะห์ครึ่งหนึ่งเชื่อว่าจะยังคงมีเงินเพียง ดังนั้น พวกเขาจึงโหวตให้กับแนวโน้มขาลงของคู่นี้ ส่วน 30% มีท่าทีเป็นกลาง และ 20% รอดูชัยชนะของฝั่งดอลลาร์ ส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพรวมที่ผสมกัน 50% ชี้ไปยังทิศเหนือ 30% ชี้ไปยังทิศใต้ และ 20% ให้สีเทากลาง ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 85% อยู่ฝั่งสีเขียว และ 15% อยู่ฝั่งสีแดง ทางด้านระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดคือ 146.90 จากนั้นคือ 145.30, 143.75, 140.60, 140.00, 138.35-139.05 และ 137.40 ด้านระดับแนวต้านคือ 148.45, 149.45, 150.00, 151.55 โดยเป้าหมายของฝั่งกระทิงคือจะต้องขึ้นไปยืนเหนือระดับ 152.00 ให้สำเร็จ และเป้าหมายถัดไปจะเป็นระดับสูงสุดในปี 1990 ที่บริเวณ 158.00

    ในสัปดาห์นี้ เราไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติที่สำคัญใด ๆ ต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น สิ่งที่น่าสนใจเดียวคือการประกาศรายงานการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันพุธที่ 2 พฤศจิกายน ซึ่งตลาดจะพยายามรอดูสัญญาณการเปลี่ยนแปลงท่าทีของธนาคารกลางฯ นอกจากนี้ นักเทรดควรทราบว่า ญี่ปุ่นจะมีวันหยุดในวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันประเพณีแห่งชาติ และแน่นอนว่าเราไม่ควรลืมว่าอาจมีโอกาสที่จะเกิด “เซอร์ไพรส์” ในรูปแบบการแทรกแซงโดยธนาคารกลางเพื่อหนุนค่าเงินเยนได้เสมอ

คริปโตเคอเรนซี: แค่ขาขึ้น? หรือเป็นขาขึ้นก่อนขาลง?

  • หลังจากการเติบโตของดัชนีหุ้นสหรัฐฯ (S&P500, Dow Jones และ Nasdaq) ในสัปดาห์ที่แล้ว ราคา Bitcoin และ Ethereum ขยับขึ้น ให้ความสุขกับนักลงทุนไปตาม ๆ กัน โดยคู่ BTC/USD ยังไม่สามารถยืนเหนือระดับ $20,400 ได้สำเร็จมาตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน โดยฝั่งกระทิงอาจถือว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นความสำเร็จได้ แต่ทั้งนี้ ราคาได้เคลื่อนไหวอยู่ตามแนว $20,000 Pivot Point ในระยะกลางและกรอบ $18,100-25,000 มาเป็นเวลา 19 สัปดาห์นับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ดังนั้น การทะยานขึ้นไปทำระดับสูงสุดในรอบเจ็ดวันที่ $21.015 อาจถือเป็นความสำเร็จเล็กน้อย แต่ไม่ใช่การกลับตัวสู่แนวโน้มขาลง

    นโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดที่เข้มงวดขึ้นอย่างรุนแรงส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ใกล้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเข้าไปทุกที อีกหนึ่งก้าวเท่านั้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าเศรษฐกิจขาลงอาจบีบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องละทิ้งนโยบายลดสภาพคล่อง (QT) อย่างน้อยสักระยะหนึ่ง โดยไม่ต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อจนหมดสิ้น ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างราคาบิทคอยน์และทองคำในช่วง 40 วันที่ผ่านมาขยับถึงตัวเลขที่มีนัยสำคัญคือ 0.5 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากระดับเกือบเป็นศูนย์ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางด้าน Bank of America ได้ออกหนังสือถึงนักลงทุน โดยแสดงความคิดเห็นว่า “ความสัมพันธ์เชิงบวกที่ลดลงของบิทคอยน์กับ S&P 500 และความสัมพันธ์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วกับราคาทองคำชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนอาจถือว่าบิทคอยน์เป็น “สินทรัพย์หลบภัย” ในสถานการณ์ที่เกิดความไม่แน่นอนในโลกของเรา และเราอาจได้เห็น “จุดต่ำสุด” ในตลาดในที่สุด

    ชุมชนบิทคอยน์มีเสียงแตกกันว่า BTC จะขยับขึ้นหรือลงในปีหน้านี้ เหตุผลก็เพราะว่า BTC มีแนวโน้มที่จะดิ่งลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่จะขยับขึ้นในช่วงกลายถึงปลายปี 2023 นักวิเคราะห์และอินดิเคเตอร์ทางเทคนิคส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่า ราคาเหรียญอาจตกลงมาที่ $12,000-$16,000 ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่ผันผวน ราคาหุ้น อัตราเงินเฟ้อ สถิติจากธนาคารเฟด และโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจมีผลไปจนถึงปี 2024 (อย่างน้อยก็ตามความเห็นของนายอีลอน มัสก์)

    ตัวอย่างเช่น Ton Weiss นักเทรดชื่อดังเชื่อว่า ในระหว่างที่เรารอ Halving ในปี 2024 ราคาบิทคอยน์จะขยับถึง $100,00 ในปีหน้า แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ตัดโอกาสที่ราคาทองคำดิจิทัลอาจลงไปสู่ระดับ $10,000-14,000 ก่อนตลาดกระทิงจะเริ่มขึ้น เขามองว่า เงินที่ไหลจากยุโรปไปยังสหรัฐฯ และอาการของกำไรที่สูญเสียไปอาจกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโต “พวกเขาพลาดโอกาสช่วงราคาต่ำในปี 2018 นี่เป็นโอกาสอีกครั้ง หากบิทคอยน์ตกลงต่ำกว่า $10,000 นักลงทุนจะฉวยโอกาสโดยทันที”

    ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า Halving ครั้งถัดไปอาจช่วยดันราคา BTC ให้สูงขึ้น ซึ่งความเห็นนี้ก็เป็นของผู้เชี่ยวชาญชื่อดัง PlanB เช่นกัน ผู้พยากรณ์ราคาในอนาคตโดยใช้โมเดลที่เรียกว่า Stock-to-Flow  Josh Rager เพื่อนร่วมงานของเขา ซึ่งเป็นนักเทรดและนักวิเคราะห์อีกท่านหนึ่งก็คาดว่าบิทคอยน์จะเติบโตเป็นอย่างมากหลังการ Halving ในปี 2024 ในขณะเดียวกัน เขามองว่าก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ราคาบิทคอยน์จะไม่มีการเติบโตไปไหน

    อย่างที่เราทราบกันดีว่า Halving ครั้งล่าสุดของบิทคอยน์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ซึ่งผลตอบแทนในการขุดบล็อกเหรียญถูกหั่นลงครึ่งหนึ่งเหลือ ุ6.25 BTC และผลตอบแทนดังกล่าวนี้จะถูกหั่นลงอีกครึ่งหนึ่งเหลือ 3.125 BTC ต่อบล็อกใน Halving ครั้งที่สี่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2024.

    Peter Brandt นักเทรดและนักวิเคราะห์ในตำนานมีความเห็นที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย เขากล่าวว่าบิทคอยน์จะทำราคาสูงสุดใหม่ในเวลาอีกประมาณ 32 เดือน แต่ในตอนแรกจะตกลงมาก่อนที่ $13,000 ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้เชื่อว่าบิทคอยน์จะทำราคาต่ำสุดในช่วงต้นปี 2023 และจะไม่มีผลงาน “ที่น่าประทับใจ” ในช่วงเวลาหนึ่งปีครึ่งข้างหน้า

    Brandt มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะไม่ผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน เขาสันนิษฐานว่าธนาคารฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 75 จุดพื้นฐานอย่างน้อยสองครั้งภายในสิ้นปี 2022 เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

    อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ท่านนี้คาดการณ์ว่า ราคาบิทคอยน์จะไม่ขึ้นอยู่กับตลาดใด ๆ ในวันใดวันหนึ่ง “บิทคอยน์จะสัมพันธ์กับบิทคอยน์เองในที่สุด” และยังให้ข้อสังเกตด้วยว่า คริปโตเคอเรนซีจะกลายเป็น “เครื่องสะสมมูลค่าหลัก” ในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้

    ทั้งนี้ Peter Brandt ได้ทำงานในตลาดการเงินมาเป็นเวลาแล้วกว่า 40 ปี เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริการ Factor Trading ซึ่งให้บริการรายงานและบทวิเคราะห์กราฟมูลค่าสินทรัพย์ Brandt ย้ำหลายครั้งว่าบิทคอยน์เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในพอร์ตการลงทุนของเขา

    ตอนนี้มาถึงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคาดการณ์ในอีก 2 เดือนข้างหน้า นักลงทุนคริปโตส่วนใหญ่จากทั้งหมด 564 คนที่ตอบแบบสำรวจ MLIV Pulse คาดว่าราคาบิทคอยน์จะซื้อขายในช่วง $17,600-25,000 และจากแบบสำรวจเดือนตุลาคมของบริษัทด้านการเงิน Finder พบว่าบิทคอยน์จะซื้อขายที่ราคา $21,344 ภายในสิ้นปีนี้

    Michael van de Poppe ซีอีโอบริษัท Eight ได้เข้าร่วมในการวิเคราะห์นี้ และคาดการณ์ว่าราคาเหรียญจะสูงขึ้นเช่นกัน เขาเชื่อว่าบิทคอยน์หยุดนิ่งอยู่ที่ช่วง $20,000 มานานเกินไปและอีกไม่นานจะออกจากกรอบดังกล่าวเพื่อสร้างสะเทือน “บิทคอยน์จะตัดทะลุทุกระดับภายในเวลาสองหรือสามสัปดาห์ และผมคิดว่ามันจะทะลุขึ้น และจะไปถึง $30,000”

    กระแสการไหลออกของ BTC จากตลาดที่มีศูนย์กลางก็เป็นสัญญาณที่เข้าข้างการเติบโตของบิทคอยน์ สิ่งนี้บ่งชี้ว่านักลงทุนกำลังถอนเงินไปยังกระเป๋าเงินเย็นเพื่อหวังว่าราคาจะเติบโตขึ้นในอนาคต

    ในทางกลับกัน ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นเชื่อว่า เราจะไม่ได้เห็นราคาพุ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้หรือในปี 2023 Gareth Soloway จาก InTheMoneyStocks ได้ชี้ว่า มีโอกาสเล็กน้อยที่เหรียญนี้อาจทรุดลงมาที่ $3,500 “ผมคิดว่าเราจะได้เห็นการดีดตัวเล็กน้อยในอนาคตอันใกล้ จากนั้นราคาจะไหลลงมาที่ $12,000-13,000 และหลังจากนั้น ผมเกรงว่า เราจะไปต่อที่ $8,000-10,000 หรืออาจจะได้เห็นราคาดิ่งลงมาที่ $3,500” เขากล่าว ในขณะเดียวกัน Gareth Soloway ยังเตือนว่าถ้าหาก BTC ลงมาต่ำกว่า $12,00 มันอาจจะไม่ให้กำไรกับนักขุดเหรียญในการบริหารจัดการระบบ ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการดำเนินธุรกรรมอีกต่อไป และสิ่งนี้จะไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังทำลายตลาดบิทคอยน์ได้อีกด้วย

    Frank Giustra เศรษฐีพันล้านผู้สร้างฐานะตนเองจากการลงทุนในอุตสาหกรรมการขุดเหรียญ เขาเชื่อว่าทางการสหรัฐฯ จะทำลายคริปโตเคอเรนซีไม่ช้าก็เร็ว เขาชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ วางแผนที่จะพัฒนาอำนาจศาลเพื่อบล็อกเชนของตนเอง “ผมคิดว่าทางการสหรัฐฯ อยากแซงหน้าทุกคนในโลกในเรื่องของบล็อกเชน โดยไม่ใช้บิทคอยน์ แต่ใช้สกุลเงินดิจิทัลของตนเองที่สามารถควบคุมได้โดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ พวกเขาไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับบิทคอยน์ ดังนั้น ผมมองว่า BTC เป็นเกมที่แข่งกับเงินพันธบัตรของรัฐอธิปไตย” Giustra กล่าวเสริมว่าบิทคอยน์ไม่มีโอกาสที่จะยืนหยัดแข่งกับรัฐบาลโลกได้

    แน่นอนว่าคำพูดทั้งหลายดังกล่าวอาจฟังดูน่าตกใจ แต่เราจะส่งท้ายรีวิวด้วยเรื่องลบ ๆ ก็คงไม่ได้ แบบสำรวจข้างต้นที่จัดทำโดยบริษัท Finder ชี้ว่า ตัวเลขกลางของบิทคอยน์ในความเห็นของนักลงทุนคือ $270,722 ภายในปี 2030

    ในระหว่างนี้ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม คู่ BTC/USD ซื้อขายอยู่ที่โซน $20,600 โดยมีมูลค่ารวมในตลาดคริปโตที่ $1.005 ล้านล้าน ($9.913 ล้านล้านในสัปดาห์ที่แล้ว) ด้านดัชี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นมา 7 จุดในรอบเจ็ดวันจาก 23 เป็น 30 และเลื่อนจากโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) เป็นโซนความกลัว (Fear) แต่ผู้พัฒนาดัชนีนี้มองว่า ควรจะเปิดคำสั่งซื้อในเวลานี้ แต่เรากลับมองสถานการณ์ยังสุ่มเสี่ยงอยู่มาก และนักเทรดต้องเทรดอย่างระมัดระวังมากที่สุดเท่าที่ทำได้

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา