บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 10 - 14 ตุลาคม 2022

EUR/USD: สถานการณ์ในอียูเลวร้ายขึ้น แต่ในสหรัฐฯ ดีขึ้น

  • EUR/USD ทำระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ 0.9535 ตามมาด้วยการปรับฐานและราคาคู่นี้เข้าใกล้ระดับคู่ขนานเมื่อวันอังคารที่ 4 ตุลาคม โดยขึ้นไปที่ 0.9999 อย่างไรก็ดี ฝั่งกระทิงยินดีได้เพียงชั่วครู่ หลังจากนั้นราคาก็กลับตัวและปิดที่ 0.9737

    เมื่อดูที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ฝ่ายที่ได้เปรียบยังคงเป็นฝั่งตลาดหมีในอีกระยะยาว สถิติล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคบริการ (ISM) ของยูโรโซนปรับลดลงจาก 49.8 เหลือ 48.8 จุด ตัวชี้วัดที่คล้ายกันในสหรัฐฯ ลดลงเช่นกัน แต่น้อยกว่ามากจาก 56.9 เหลือ 56.7 และในขณะเดียวกัน ดัชนีปรากฏว่าสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 56.0

    สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมในเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอียู แทนที่จะนำขบวนรถไฟยุโรปให้ไปข้างหน้า กลับเริ่มย่นถอยหลัง ดัชนีกิจกรรมภาคบริการลดลงจาก 47.7 เหลือ 45.0 ในขณะที่ดัชนีรวมลดลงจาก 46.9 เหลือ 45.7

    สถิติการค้าของเยอรมนีในเดือนสิงหาคมก็บ่งชี้ถึงปัญหาที่รุนแรงเช่นกัน ตัวเลขนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.4% มากกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 1.1% ถึงสามเท่า ดังนั้น ความเกินดุลของดุลการค้าประเทศลดลงจาก 3.4 พันล้านยูโร เหลือ 1.2 พันล้านยูโร

    สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ทรุดตัวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ เป็นสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจชะงักงันในยูโรโซน ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นยิ่งกระตุ้นปัจจัยเชิงลบ และยังมีความเป็นไปได้ต่อเนื่อง เพราะประเทศ OPEC+ ตัดสินใจลดกำลังการผลิตน้ำมันอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ราคาเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นที่ทรงพลังที่สุดของภาวะเงินเฟ้อรอบโลก ปัจจัยเชิงลบอีกประการหนึ่งคือความข้องเกี่ยวข้องประเทศในอียูกับปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยเฉพาะการที่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียข่มขู่อย่างต่อเนื่องว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์

    สถานการณ์ในสหรัฐฯ ดีกว่ามาก ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สหรัฐฯ อยู่ห่างไกลจากแนวหน้าสนามรับระหว่างรัสเซียและยูเครน และวิกฤติน้ำมันและก๊าซก็ไม่ส่งผลกระทบเช่นกัน ADP รายงานว่าอัตราการจ้างงานในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเป็น 208K ในเดือนกันยายน ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 200K ด้านจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NFP) ของสหรัฐฯ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 263K จากที่คาดการณ์ 250K และอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ก็ลดลงจาก 3.7% เหลือ 3.5% ในเวลาหนึ่งเดือน

    สถานการณ์ในตลาดแรงงานช่วยให้ธนาคารเฟดสามารถต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้ต่อเนื่อง โดยใช้นโยบายการถอนสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของดอลลาร์ นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวว่า วัฎจักรการคุมเข้ม “ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น” และเตือนว่าจะเกิด “การกลับตัว” ในเร็ว ๆ นี้ คำกล่าวที่คล้ายกันนั้นก็มาจาก แมรี ดาลี ประธานสาขาซานฟรานซิสโกเช่นกัน แต่อัตราดอกเบี้ยจะออกมาที่เท่าไรนั้น เราจะได้ทราบกันในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะมีการจัดการประชุมครั้งถัดไปของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ

    ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม คะแนนเสียงของผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกได้ดังนี้: นักวิเคราะห์ 50% กล่าวว่า ราคาคู่นี้จะขยับไปยังทิศใต้ต่อไปในอนาคตอันใกล้ อีก 30% คาดการณ์ราคาจะขยับขึ้นทางทิศเหนือ และ 20% ที่เหลือโหวตให้กับเทรนด์ด้านข้าง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 มี 40% ให้สัญญาณสีแดง 25% ให้สีเขียว และ 35% ให้สีเทากลาง ด้านออสซิลเลเตอร์ให้ภาพรวมที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง โดย 100% ให้สัญญาณว่าควรเทรดขายคู่นี้

    แนวรับที่ใกล้ที่สุดของ EUR/USD นั้นอยู่ที่ 0.9700-0.9725 ตามมาด้วย 0.9645, 0.9580 และสุดท้ายจะเป็นระดับต่ำสุดของวันที่ 28 กันยายนที่ 0.9535 เป้าหมายถัดไปของฝั่งหมีจะเป็น 0.9500 ด้านระดับแนวต้านและเป้าหมายของฝั่งกระทิงคือ 0.9800-0.9825, 0.9900 ซึ่งภารกิจอันดับแรกคือจะต้องกลับไปยังกรอบ 0.9950-1.0020 และมีเป้าหมายถัดไปที่บริเวณ 1.0130-1.0200

    สำหรับสัปดาห์ที่จะถึงนี้ การเผยแพร่รายงานของคณะกรรมการ FOMC รวมถึงคำกล่าวแถลงของ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป ในวันพุธที่ 12 ตุลาคมจะเป็นที่น่าติดตาม ในวันถัดมาวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม ะมีการประกาศสถิติจากตลาดผู้บริโภค (CPI) ในเยอรมนี รวมถึงตลาดผู้บริโภคและตลาดแรงงานของสหรัฐฯ สำหรับดัชนีค้าปลีกของสหรัฐฯ และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจาก University of Michigan จะรายงานให้ทราบในปลายสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคมนี้

GBP/USD: ความเสียหายของเงินปอนด์

  • หลังจากค่าเงินปอนด์ทรุดตัวหนักอย่างน่าตกใจเมื่อช่วงวันที่ 23-26 กันยายนที่ผ่านมา เงินปอนด์แทบจะเท่ากับค่าเงินดอลลาร์ โดยราคาคู่นี้บินขึ้นกว่า 860 ปิป และปิดที่ 1.0350 ต่ำกว่าระดับต่ำสุดเมื่อปี 1985

    ค่าเงินที่ทรุดตัวอย่างน่าตกใจเช่นนั้นเป็นเพราะ นายควาซี ควาซี กวาร์เต็ง รัฐมนตรีการคลังของอังกฤษ แทนที่จะเพิ่มภาษีตามที่วางแผนไว้ กลับประกาศโครงการลดภาระภาษีให้กับประชาชน และนิติบุคคลในประเทศ กล่าวคือ ในบริบทของภาวะเงินเฟ้อซึ่งสูงกว่า 10% ในเดือนกรกฎาคมและอาจสูงขึ้นกว่า 14% ภายในสิ้นปีนี้ ตลอดจนปัญหาหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และปัญหาอื่น ๆ ที่สะสมตัวตั้งแต่เบร็กซิต รัฐบาลกลับตัดสินใจกลับหัวเรือและกลับไปใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีกครั้ง ซึ่งเพียงพอที่จะทุบค่าเงินปอนด์ให้ดิ่งลง

    สำนักงานงบประมาณอังกฤษ (OBR) ประมาณการว่า การตัดสินใจนี้รวมถึงโครงการเยียวยาต่าง ๆ ที่ผ่านมาสำหรับประชาชน ประกอบกับราคาเชื้อเพลิงที่สูงจะนำไปสู่ภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจาก 96% ในปัจจุบันขึ้นเป็น 320% ของ GDP ในช่วง 50 ปีข้างหน้า รัฐบาลของอังกฤษจึงรีบถกเถียงกันเรื่องการลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐบาล แม้แต่ไอเอ็มเอฟก็ประหลาดใจและกล่าวต่อว่ารัฐบาลประเทศ แน่นอนว่าประชาชนในประเทศที่มองว่าเงินปอนด์จะต้องทรุดตัวลงหนัก ก็รีบซื้อทองคำและคริปโตเคอเรนซีสะสมไว้ Bullion Vault รายงานว่ามีจำนวนบัญชีที่เปิดขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า ส่วนสมาคม London Bullion Market Association รายงานว่ามีปริมาณการเทรด BTC/GBP เพิ่มขึ้นสองเท่าในตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตเช่นกัน

    ราคาปิดท้ายสัปดาห์ที่ 1.1079 ด้านนักยุทธศาสตร์จาก ING เครือธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ชี้ว่า ระดับเงินปอนด์ในปัจจุบันนั้นขาดเสถียรภาพ เนื่องด้วยการขาดเสถียรภาพในตลาดพันธบัตร สถานการณ์ทางการคลังที่แย่ลง และการดำเนินการของอังกฤษ ดังนั้น นักยุทธศาสตร์กลุ่มนี้คาดการณ์ว่าราคาคู่เงิน GBP/USD จะกลับมาต่ำกว่า 1.1000 ด้าน MUFG Bank คาดว่าคู่เงินนี้จะดิ่งลงอีกครั้งไปยังระดับต่ำสุดขในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนกันยายน ในส่วนของการคาดการณ์ระยะกลาง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (55%) เข้าข้างฝั่งหมีเช่นกัน โดย 15% คาดการณ์ว่าเงินปอนด์จะแข็งค่า และ 30% มีท่าทีเป็นกลาง ด้านออสซิลเลเตอร์ 100% บนกรอบ D1 ชี้ไปยังทิศใต้อย่างชัดเจน แต่ภาพรวมของบรรดาอินดิเคเตอร์เทรนด์ยังไม่ชัดเจน โดยมี 35% ที่ให้สัญญาณสีแดง จำนวนเดียวกันเป็นสีเขียว และ 30% ที่เหลือเป็นสีเทากลาง ส่วนระดับและโซนแนวรับที่ใกล้ที่สุดคือ 1.0985-1.1000, 1.0500-1.0740 และราคาต่ำสุดของวันที่ 26 กันยายนที่ 1.0350 ซึ่งในกรณีที่ราคาคกลับขึ้นไปยังทิศเหนือ ฝั่งกระทิงจะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.1230, 1.1400, 1.1470, 1.1720, 1.1800 1.1960

    ปฏิทินกิจกรรมในสัปดาห์นี้เราอาจเน้นวันที่ 11 ตุลาคม ซึ่งจะมีการประกาศสถิติการว่างงานในสหราชอาณาจักร และนายแอนดริว ไบเลย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะกล่าวแถลงในช่วงท้ายของวันเดียวกัน.

USD/JPY: “เงินเยนที่ผันผวนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

  • เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว การคาดการณ์โดยเฉลี่ยของผู้เชี่ยวชาญสำหรับคู่เงิน USD/JPY ดูไม่มีความแน่นอนแต่อย่างใด ในตอนนั้นมีผู้เชี่ยวชาญ 45% ที่เข้าข้างฝั่งกระทิง อีก 45% โหวตฝั่งตรงกันข้าม และ 10% มีท่าทีเป็นกลาง และความไม่แน่นอนนี้ก็เป็นไปตามจริง คู่นี้ขยับอยู่ในกรอบด้านข้างที่ 143.50-145.30 มาตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน โดยใช้เวลาส่วนใหญ่เทรดอยู่ในกรอบแคบ ๆ ที่ 144.00-144.85 ราคาไม่มีการขึ้นไปโจมตี 146.00 และความหวังว่าเงินเยนน่าจะแข็งค่าขึ้น หลังจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้สั่งการให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เข้าแทรกแซงค่าเงินในประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ซึ่งเงินเยนก็ไม่ได้แข็งค่าขึ้นแต่อย่างใด

    โดยมีการจัดสรรเงินเยนจำนวน 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ ($19.3 พันล้านดอลลาร์) เพื่อวัตถุประสงค์นี้ในเดือนที่แล้ว ส่งผลให้เงินสำรองเพื่อการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศของญี่ปุ่นลดลง 4.2% เหลือ $1.238 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเคยมีจำนวนเงินสำรองรวมทั้งสิ้น $1.409 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า ด้านเงินฝากของญี่ปุ่นในธนาคารกลางในต่างประเทศ ปริมาณสินทรัพย์ทางการเงิน และทองคำสำรองก็ลดลงด้วยเช่นกัน

    มันดูเหมือนว่าผู้บริหารประเทศค่อนข้างพึงพอใจกับความสงบนิ่งในคู่เงิน USD/JPY ซึ่ง นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้แสดงความเห็นต่อการแทรกแซงล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมว่า “ความเคลื่อนไหวที่รุนแรงและเพียงด้านเดียวของเงินเยนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์” และคำกล่าวนี้จุดประเด็นคำถามขึ้นว่า กระทรวงการคลังและธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินท่าทีที่ตรงกันข้ามกับความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือไม่? หรือพวกเขาไม่คาดว่าความผันผวนจะเพิ่มขึ้น?

    ในเวลาเดียวกันนั้น ข้อเท็จจริงยังคงเป็นไปตามที่เราเคยทำนายไว้ เงินเยนยังไม่แข็งค่าขึ้นในระยะยาว และคู่ USD/JPY ปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 145.30 โดยมีแนวรับอยู่ในโซนและระดับที่ 144.85, 144.20, 143.50, 142.60, 141.80-142.20 และ 140.25-140.60 ส่วนภารกิจอันดับหนึ่งของฝั่งกระทิงคือ การพยุงราคาไม่ให้ตกลงไปต่ำกว่า 145.00 และภารกิจอันดับที่สองคือการขึ้นไปโจมตีที่ 146.00 ตามมาด้วยระดับ 146.78 ระดับที่เคยขยับไปถึงก่อนที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะมีความตกลงร่วมกันเพื่อสนับสนุนเงินเยนเมื่อปี 1998 อินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 เข้าข้างสีเขียวถึง 100% แต่ในส่วนหลังนั้นมีสัญญาณจำนวนหนึ่งในสามที่บ่งชี้ว่าราคามีแรงซื้อมากเกินไป (overbought)

    ทั้งนี้ ไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติที่สำคัญทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ และนักเทรดควรไม่ลืมด้วยว่า ในวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคมนั้นจะเป็นวันหยุดในประเทศ เพราะเป็นวันกีฬาแห่งชาติ

คริปโตเคอเรนซี: บิทคอยน์ยังคงเป็นทองคำ แม้ว่าจะเป็นทองคำดิจิทัล

  • The Block รายงานว่า แม้ว่าจะเป็นช่วงแนวโน้มตลาดหมีรอบโลก นักลงทุนที่ทำกิจกรรมในเครือข่ายบิทคอยน์เพิ่มขึ้น 4.5 ล้านรายนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022 จำนวนที่อยู่บิทคอยน์ที่มียอดเงินอย่างน้อย 0.01 BTC ขยับถึงระดับสูงสุดที่ 10.7 ล้านแอดเดรสในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา (ในขณะเดียวกันนั้น มีเจ้าของ 47% ที่ได้กำไรอยู่ แม้ว่าบิทคอยน์จะทิ้งห่างจากราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์อยู่มาก)

    พฤติกรรมนี้นั้นเป็นผลมาจากวิกฤติทางเศรษฐกิจที่มีความรุนแรงในยุโรป ซึ่งผู้ถือเหรียญรายย่อยกำลังลงทุนในบิทคอยน์เพิ่มขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง เราอาจอ้างถึงกรณีสหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่าง การขาดความเชื่อมั่นในนโยบายทางการคลังของรัฐบาลส่งผลให้เงินปอนด์ทรุดตัวหนักช่วงวันที่ 23-26 กันยายน ดังนั้น นักลงทุนที่หวาดวิตกจึงเริ่มแปลงเงินจากเงินปอนด์เป็นทองคำและสินทรัพย์คริปโต ทั้งนี้ เราเคยมีข้อสงสัยในบทวิเคราะห์ครั้งที่แล้วว่า BTC เป็นทองคำดิจิทัลหรือไม่ ในกรณีของสหราชอาณาจักรนั้น คำตอบก็คือใช่แล้วนั่นเอง

    สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่า การขาดเสถียรภาพในตลาดการเงินดั้งเดิมอาจเป็นผลดีต่อตลาดคริปโต และนี่ไม่ใช่คำแนะนำของเราเท่านั้น สแตนลีย์ ดรุกเคนมิลเลอร์ อดีตผู้ร่วมงานใน Quantum ของจอร์จ โซรอส ได้ทำนายว่าสินทรัพย์ดิจิทัลจะเฟื่องฟูท่ามกลางเศรษฐกิจที่ใช้เงินพันธบัตรเป็นหลัก เขากล่าวในการประชุมกับ CNBC ซึ่งนักการเงินรายนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ “จะลงกระแทกพื้นอย่างรุนแรง” ในปี 2023 ท่ามกลางนโยบายทางการเงินที่คุมเข้มทางการเงินอย่างเด็ดขาด

    เขามีความเห็นว่า มาตรการผ่อนคลาบเชิงปริมาณและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนำไปสู่วิกฤติฟองสบู่ในตลาดการเงิน ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่ถูกยับยั้งในขณะนี้ แต่เป็นไปในทางตรงกันข้าม ธนาคารเฟดเริ่มตัดงบ $9 ล้านล้านดอลลาร์ และขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วเป็น 3.25% โดยคาดหวังว่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปได้จนถึง 4.60% “คุณไม่จำเป็นต้องพูดถึงหงส์ดำ จึงจะเริ่มกังวล” เศรษฐีพันล้านรายนี้กล่าวว่า หากความเชื่อมั่นในท่าทีของธนาคารกลางหมดลง คริปโตเคอเรนซี “จะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัว”

    ไม่ใช่แค่ สแตนลีย์ ดรุกเคนมิลเลอร์ เท่านั้น แต่ตลาดทั้งตลาดต่างกลัวว่าเศรษฐกิจจะไม่สามารถต้านทานมาตรการคุมเข้มทางการเงินเช่นนั้นได้ นอกเหนือจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว อัตราการลดปริมาณเงินรอบโลกต่อเดือนอยู่ที่ $750 พันล้านดอลลาร์แล้วตามรายงานของ Morgan Stanley ซึ่งนำไปสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงยิ่งขึ้น และมีแต่ธนาคารเฟดเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ หากยอมถอนตัวจากแผนที่จะต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ หากมองในแง่ของอนาคต โรเบิร์ต คิโยซากิ ผู้เขียนหนังสือขายดีเรื่อง Rich Dad, Poor Dad มองว่า ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นนั้นเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมในการเข้าซื้อบิทคอยน์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ “ซื้อเพิ่ม เมื่อธนาคารกลับลำ และหั่นอัตราดอกเบี้ย คุณจะยิ้มได้ในขณะที่คนอื่นกำลังร้องไห้อยู่” เขากล่าว

    ไมค์ โนโวกราตซ์ ซีอีโอ Galaxy Digital มีความเห็นที่คล้ายกัน โดยไม่ตัดความเป็นไปได้ที่ ธนาคารฯ อาจเริ่มมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอีกครั้งในเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อทำให้สถานการณ์ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น

    ประธาน Galaxy Digital รายนี้เชื่อว่า บิทคอยน์ดูมีความมั่นคงในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และ BTC จะสามารถขยับถึง $500,000 ได้ภายในไม่กี่ปี

    อาร์เดียน ซดันซิกค์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ The Birb NEst แบ่งปันความเห็นของเขาต่อบิทคอยน์และว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคริปโตเคอเรนซีในไตรมาสสุดท้ายของปี เขาชี้ให้เห็นว่า เมื่อดูสถิติแล้ว ไตรมาสสุดท้ายมักเป็นความสำเร็จของ BTC และน่าสนใจที่จะดูกันว่าผู้นำในตลาดคริปโตจะซ้ำรอยความสำเร็จเหมือนครั้งก่อน ๆ ได้หรือไม่ เขาใช้สถิติในอดีตมาอ้างอิง ซึ่งยืนยันว่านักลงทุนจะได้เห็นผลตอบแทนที่ดีในช่วงสองเดือนข้างหน้า แต่ก็บอกด้วยว่าไม่มีอะไรสามารถการันตีได้

    อีกหนึ่งข้อสนับสนุนว่าบิทคอยน์จะทะยานขึ้นในช่วงก่อนปีใหม่ก็คือ เหรียญนั้นได้ขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับแนวโน้ม 200 วัน บิทคอยน์มีความเสถียรอยู่บริเวณ $19,000 to $20,000 ซึ่งแตกต่างจากสกุลเงินทั่วไปที่วิ่งราวกับรถไฟเหาะ และตอนนี้ตลาดกำลังรอคอยเสถียรภาพอยู่ พวกเขาเหน็ดเหนื่อยกับภาวะถดถอย หุ้นบริษัทที่รวงลง และการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟที่ดูมืดมน ดังนั้น บิทคอยน์จึงอาจมีความน่าดึงดูดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสถานการณ์เช่นนี้

    เบื้องหลังสถานการณ์ที่ราคาที่เริ่มคงตัว หลักเกณฑ์ในการขุดเหรียญมีการปรับปรุงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยอัตราความเร็วในการขุดเหรียญทำสถิติที่ 242 EH/s โดยนักวิเคราะห์ได้ประมาณจุดคุ้มทุน “ที่เจ็บปวด” สำหรับนักขุดเหรียญไว้ที่ $18,300 การคำนวณจาก Glassnode ชี้ว่า เหรียญ 78,400 BTC อาจเสี่ยงถูกล้างไปหากราคาบิทคอยน์ขยับลงต่ำกว่าระดับราคานี้ ซึ่งเป็นไปตามโมเดลการถดถอยของอุปสรรคในการขุดเหรียญ ซึ่งราคาดังกล่าวนั้นสูงกว่าราคาต่ำสุดในเดือนมิถุนายนที่ $17,840 ความสมดุลของนักขุดเหรียญ ซึ่งคิดเป็น 96% ของอัตราการขุดเหรียญหรือแฮชเรตในปัจจุบัน บ่งชี้ว่าเหรียญ 78,400 BTC เป็นจำนวนเหรียญสูงสุดที่สามารถเพิ่มการขายได้ในกรณีที่มีความตึงเครียดในตลาดนี้ ในขณะนี้ ยอดขายส่วนใหญ่นั้นมาจากนักขุดเหรียญจากวงเงิน Poolin ในเดือนกันยายน ผู้แทนจากบริษัทยอมรับว่า มีปัญหาในเรื่องสภาพคล่อง

    แคนเทอริง คลาร์ก นักยุทธศาสตร์และนักเทรดคริปโตมีความเห็นแตกต่างไปจากผู้มองโลกในแง่ดีทั้งหลาย เขาคาดว่า BTC จะดิ่งทำระดับต่ำสุดในรอบห้าปีท่ามกลางสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นอ่อนแอ การคำนวณของเขาชี้ว่า บิทคอยน์อาจร่วงลงเกือบ 40% จากระดับปัจจุบันได้ หากดัชนีหุ้น S&P 500 เริ่มแนวโน้มหมีอีกครั้ง “หาก S&P 500 ร่วงลงไปยังบริเวณที่สำคัญถัดไปที่ระหว่าง 3,200-3,400 จุด ผมคิดว่าการสันนิษฐานที่ถูกต้องก็คือ การทรุดลงของคริปโตจะหนักกว่า 2-3 เท่า นี่หมายความว่า BTC จะกลับมาทดสอบช่วงต่ำสุดในรอบห้าปีอีกครั้งที่ประมาณ $12,000-13,000” เขากล่าวเตือน

    อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น เขายังคงเชื่อว่ากระทิงบิทคอยน์อาจนำพาความเชื่อมั่นกลับมายังตลาด หากพวกเขาสามารถยืนเหนือระดับ $20,000 ได้สำเร็จ “หากเราฝ่าระดับสูงสุดในกรอบเหล่านี้ไปได้ ผมคิดว่า BTC จะได้เห็นความแข็งแกร่งอยู่บ้าง” เขากล่าวทำนาย

    ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียได้ถกเถียงกันอย่างเข้มข้นว่า วันที่ 7 ตุลาคมจะเป็นวันสำคัญสำหรับตลาดคริปโตเคอเรนซีหรือไม่ ประเด็นคือทางการสหรัฐฯ จะประกาศสถิติใหม่ของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันดังกล่าว สถิติการจ้างงานและดัชนี CPI จะให้สัญญาณว่า ธนาคารเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่าไรในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนพฤศจิกายน และสิ่งนี้จะส่งผลต่อมูลค่าของสินทรัพย์กลุ่มเสี่ยง เช่น หุ้น และคริปโตเคอเรนซีอย่างแน่นอน

    ตลาดตอบสนองต่อการประกาศดัชนีเหล่านี้ โดยราคาสินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงปรับตัวลง ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม) BTC/USD ขยับลงต่ำกว่า $20,000 และเทรดอยู่ที่ $19,610 โดยมูลค่ารวมตามราคาตลาดคริปโตคือ $0.946 ล้านล้านดอลลาร์ ($0.935 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นเพียง 1 จุดในรอบเจ็ดวัน จาก 22 เป็น 23 และยังคงอยู่ในโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear)

    และขอปิดท้ายบทวิเคราะห์ด้วยเรื่องบวก ๆ กันบ้าง เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า อุตสาหกรรมคริปโตหากขาดการกำกับดูแลก็จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงและอาจส่งผลเสียต่อระบบการเงินสหรัฐฯ ทั้งระบบ โดยปกติแล้ว ตลาดมักจะตอบรับต่อคำกล่าวเช่นนี้ว่าเป็นภัยต่อตลาดคริปโต และเป็นปัจจัยตลาดหมีต่อบิทคอยน์และคริปโตเคอเรนซีอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สสินค้าโภคภัณฑ์ (CFTC) ซึ่งดูแลตลาดฟิวเจอร์สของสหรัฐฯ เชื่อว่า การควบคุมที่เหมาะสมอาจให้ผลดีต่อแนวโน้มกระทิงอันทรงพลังต่อราคา BTC โรสติน เบห์แนม ประธาน CFTC อธิบายว่า กรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจนสามารถช่วยเพิ่มจำนวนนักลงทุนรายสถาบันได้

    จึงไม่มีข้อสงสันเลยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะบีบอุตสาหกรรมคริปโตให้อยู่ใต้ “อ้อมกอด” ความควบคุมในเร็ว ๆ นี้ แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคำทำนายของนายไมค์ โนโวกราตซ์ เป็นจริงขึ้นมา และเราจะได้เห็นบิทคอยน์ที่ $500,000 ไหม?

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา