EUR/USD: รอดูการประชุมคณะกรรมการ FOMC ของธนาคารเฟดสหรัฐฯ
- ธนาคารโลกกล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2023 เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกับที่มีการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงินในธนาคารกลางชั้นนำต่าง ๆ และวิกฤติพลังงานในยุโรป นักยุทธศาสตร์จาก Citigroup ชี้ว่า ดอลลาร์ยังเป็นสกุลเงินหลบภัยเดียวสำหรับนักลงทุนที่จะประกันความเสี่ยงการขาดทุนในพอร์ตการลงทุน
ตลาดหุ้นทั่วโลกเสียเงินกว่า $23 ล้านล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ต้นปี 2023 และราคาพันธบัตรก็ลดลงเช่นกัน ด้านดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ผิดกับหุ้นและสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอื่น ๆ การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ดัชนี DXY อาจขยับถึง 112.00 จุดในช่วงสามเดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่า เศรษฐกิจหรัฐฯ จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ก็ช่วยให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน
ในขณะนี้ ตลาดกำลังให้ความสนใจกับการประชุมครั้งถัดไปของคณะกรรมการ FOMC ของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในวันพุธที่ 21 กันยายน หลักเกณฑ์สำคัญที่จะกำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในขณะนี้คืออัตราเงินเฟ้อและสถานการณ์ในตลาดแรงงาน ในสัปดาห์ที่แล้วมีการประกาศสถิติที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีค้าปลีก และยอดขอรับสวัสดิการว่างงานในสหรัฐฯ ซึ่งสถิติดังกล่าวทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า ธนาคารเฟดจะเดินหน้าใช้มาตรการถอนสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) ต่อไป CME Group รายงานว่ามีความเป็นไปได้ 74% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 จุดพื้นฐาน (bp) และ 100 bp ที่ 26% นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จาก Wells Fargo เชื่อว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะตามมาด้วยการเร่งลดดุลงบประมาณ
ในการประชุมครั้งนี้จะมีการอัปเดตตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดเช่นกัน ซึ่งการคาดการณ์ค่ากลางของอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 คาดว่าจะถูกปรับเป็น 3.875% โดยปรับขึ้นมาจาก 3.375% ในการคาดการณ์เดือนมิถุนายน
มาตรการทั้งหลายข้างต้นอาจนำไปสู่แนวโน้มดอลลาร์ที่แข็งค่า และตลาดหุ้นดิ่งลง ทั้งนี้ สถานการณ์ในทางตรงกันข้ามจะเกิดขึ้นได้ เฉพาะเมื่อธนาคารเกิดล้มเลิกแผนการที่เคยประกาศไว้แล้วเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ GDP ลดลงอย่างรุนแรง อัตราการว่างงานสูงขึ้น และมีชัยชนะเหนือภาวะเงินเฟ้ออย่างชัดเจน ซึ่ง ณ ขณะนี้ เรายังไม่เห็นแนวโน้มใด ๆ เหล่านี้ในสหรัฐฯ
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 13 กันยายน ลดลงจาก 8.5% เหลือ 8.3% ในรอบเดือน อย่างไรก็ดี ตัวเลขคาดการณ์ชี้ว่าจะลดลงมากกว่าที่ 8.1% ปัจจัยเสริมในทางลบยังมีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 6.3% ปีต่อปี ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมและสูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2% มากกว่าสามเท่า แต่ในทางกลับกัน ตลาดแรงงานยังคงดูดี ซึ่งสนับสนุนการคาดการณ์เรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย การเติบโตในการจ้างงานในช่วงสองเดือนที่ผ่านมามีความแข็งแกร่ง โดยมีตำแหน่งงานใหม่โดยเฉลี่ย 421,000 ตำแหน่ง
ในส่วนของยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเป็น 9.1% ในเดือนสิงหาคม นักวิเคราะห์บางคนจึงเชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรปอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปครั้งละ 0.75% อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งถัดไปจะเป็นวันที่ 27 ตุลาคม ซึ่งยังอีกห่างไกล ดังนั้น ธนาคารยุโรปจึงตามหลังสหรัฐฯ ในเรื่องของมาตรการถอนสภาพคล่อง (QT) ในขณะเดียวกัน นักยุทธศาสตร์จาก Rabobank ชี้ว่า สถานการณ์ที่ไม่มั่นคงในภูมิภาคอาจหมายความว่า “การขึ้นอัตราดอกเบี้ย” จะไม่ทำให้ยูโรแข็งค่าขึ้นมาก” เนื่องด้วยดอลลาร์ที่แข็งแกร่ง ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่าคู่ EUR/USD อาจขยับลดลงมาที่ 0.9500 ในไม่กี่สัปดาห์หน้านี้
EUR/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 1.0013 ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 16 กันยายน โดยผลโหวตของผู้เชี่ยวชาญมีดังนี้ นักวิเคราะห์จำนวน 75% กล่าวว่า ราคาจะตกลงต่อไปในอนาคต อีก 25% โหวตว่าเทรนด์จะออกด้านข้างตามแนว Pivot Point ที่ 1.0000 โดยไม่มีคะแนนโหวตฝั่งตลาดกระทิงแต่อย่างใด
ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 มี 65% ให้สัญญาณสีแดง, 35% สีเขียว และในส่วนออสซิลเลเตอร์ 25% ให้สัญญาณสีเขียว, 25% ให้สีแดง และ 50% ให้สัญญาณสีเทากลาง
ราคาคู่นี้ขยับตามเส้นคู่ขนานมาตลอดสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีกรอบการเทรดอยู่ที่ 0.9900-1.0050 แต่หากพิจารณาช่วงที่ราคามีการดีดตัวทั้งสองทิศทาง กรอบดังกล่าวจะกว้างขึ้นเป็น 0.9863-1.0197 โดยมีแนวรับที่สำคัญถัดไปหลังจากโซน 0.9860 ที่บริเวณ 0.9685 สำหรับเป้าหมายของตลาดหมีคือ 0.9500 ด้านระดับและเป้าหมายแนวต้าน ได้แก่: 1.0050, 1.0080, 1.0130 จากนั้นคือ 1.0200 และ 1.0254 และมีบริเวณเป้าหมายถัดไปคือช่วงราคา 1.0370-1.0470
นอกเหนือจากการประชุมของ FOMC (คณะกรรมการกำกับนโยบายทางการเงินสหรัฐฯ) และการแถลงความเห็นที่ตามมา เราจะรอติดตามสถิติอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้านี้ ซึ่งจะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน และดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ในเยอรมนี และยูโรโซนโดยรวม ซึ่งเราจะได้ทราบในช่วงปลายสัปดาห์ในวันศุกร์ที่ 23 กันยายน
GBP/USD: รอติดตามการประชุมธนาคารอังกฤษ
- สกุลเงินปอนด์อังกฤษทำสถิติสวนทางอีกครั้ง โดยราคาขึ้นมาที่ 1.1737 เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากนั้นคู่ GBP/USD ก็กลับตัวและตกลงอย่างรวดเร็ว ราคามีการหยุดพักเล็กน้อยก่อนที่จะดิ่งลงต่อ โดยราคาคู่นี้ดิ่งลงเมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน ลงมาที่ 1.1350 ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 37 ปี ตั้งแต่ปี 1985 ก่อนที่จะปิดตลาดโดยขยับขึ้นมาอีก 75 จุดที่ 1.1425
นอกเหนือดอลลาร์ที่แข็งค่าตามความคาดหวังว่าธนาคารเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย แรงกดดันเสริมต่อเงินปอนด์อังกฤษยังมาจากสถิติค้าปลีกที่ลดลงฮวบในสหราชอาณาจักร ซึ่งลดลง 1.6% เดือนต่อเดือนในเดือนสิงหาคม ลดลงสามเท่าจากการคาดการณ์ที่ 0.5%
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การปรับฐานทางเทคนิคครั้งใหญ่อาจหยุดแนวโน้มขาลงนี้ได้ และอาจหยุดได้เพียงแค่ระยะหนึ่งเท่านั้น ด้านนักยุทธศาสตร์จาก MUFG Bank เชื่อว่า แนวโน้มขาลงของ GBP/USD อาจดำเนินต่อไปจนทำระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ 1.0520 “ด้วยเรื่องงบประมาณและการขาดดุลบัญชีปัจจุบันของอังกฤษ แรงกดดันต่อ GBP จะยังคงส่งผลกระทบต่อไป”
ธนาคารแห่งชาติอังกฤษยังได้ประกาศอัตราดอกเบี้ยในวันถัดมาหลังการประชุมของคณะกรรมการ FOMC เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน การคาดการณ์หลักชี้ว่า ดอกเบี้ยอาจขึ้นมาอีก 50 bp จาก 1.75% เป็น 2.25% อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารอังกฤษจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยทันทีเป็น 2.5% ซึ่งจะช่วยหนุนค่าเงินปอนด์ได้สักระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเสมือนดาบสองคม หากการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นจริง จะยิ่งสร้างภาระที่หนักหน่วงต่อเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งสถานการณ์มีความน่ากังวลอย่างรุนแรงอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ เราเคยเขียนไว้แล้วว่า หอการค้าอังกฤษ (BCC) ได้ประเมินว่า สหราชอาณาจักรกำลังอยู่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย และอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งถึง 14% ในปีนี้ Goldman Sachs รายงานว่า อัตราเงินเฟ้ออาจสูงถึง 22% ภายในสิ้นปี 2023 ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ยาวนาน และเศรษฐกิจหดตัวมากกว่า 3.5% ด้าน Ofgem หน่วยงานพลังงานของอังกฤษได้ประกาศแล้วว่า ค่าไฟเฉลี่ยของครัวเรือนอังกฤษจะเพิ่มขึ้น 80% ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป และ Financial Times รายงานว่าจะมีจำนวนครัวเรือนที่เผชิญภาวะยากจนด้านพลังงานเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในเดือนมกราคมจำนวนกว่า 12 ล้านครัวเรือน
ก่อนการประชุมของธนาคารเฟดและธนาคารกลางอังกฤษ ภาพรวมสำหรับสัปดาห์หน้าดูไม่มีอะไรเป็นพิเศษ โดยนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งในสามเข้าข้างฝั่งดอลลาร์ อีกหนึ่งในสามโหวตให้กับฝั่งเงินปอนด์ และอีกหนึ่งในสามมีความเห็นเป็นกลาง ผลวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 เกือบจะเป็นสีแดงทั้งหมดอีกครั้ง โดยเป็นอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ในส่วนของออสซิลเลเตอร์ 85% ชี้ไปยังทิศใต้ และ 15% ทิศตะวันออก แต่ไม่มีออสซิลเลเตอร์ใดที่ชี้ไปยังทิศเหนือ
สำหรับตลาดกระทิงจะต้องเจอกับแนวต้านในโซนและระดับ 1.1475, 1.1535, 1.1600, 1.1650, 1.1710-1.1740, 1.1800, 1.1865-1.1900, 1.2000 โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 1.1400-1.1415 ตามมาด้วยราคาต่ำสุดวันที่ 16 กันยายนที่ 1.1350 โดยเราไม่สามารถเดาได้ว่าราคาแนวรับถัดไปอยู่ที่ไหนเนื่องด้วยความผันผวนที่สูง ทั้งนี้ ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ 1.0520 เมื่อปี 1985
สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้านี้ นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษแล้ว ยังมีการประกาศกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ของสหราชอาณาจักรในวันศุกร์ที่ 23 กันยายน ทั้งนี้ จะมีวันหยุดธนาคารในวันจันทร์ที่ 19 กันยายนด้วย
USD/JPY: จับตาดูการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น
- นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารเฟดและธนาคารอังกฤษแล้ว ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้านี้ จากการคาดการณ์ชี้ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงยึดมั่นในนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายสุดโต่ง และคงอัตราดอกเบี้ยในระดับติดลบ (-0.1%) ต่อไป
แน่นอนว่าปาฏิหารย์อาจเกิดขึ้น แต่ความเป็นไปได้นั้นแทบเป็น 0 ในขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์จาก Societe Generale มองว่า ท่าทีการดำเนินมาตรการแต่เพียงฝ่ายเดียวของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเพียงพอที่จะหยุดแนวโน้มเงินเยนที่อ่อนค่า แต่จะไม่เพียงพอที่จะพลิกทิศทางขาลงของ USD/JPY โดย Societe Generale ชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะนำไปสู่ความจำเป็นให้ต้องลดผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
USD/JPY ปิดท้ายตลาดในสัปดาห์ที่แล้วที่ 142.90 โดยขยับขึ้นไม่ถึง 145.00 อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จาก Bank of America ชี้ว่า แนวโน้มกระทิงของคู่นี้ยังคงมีผลต่อไป และราคายังมุ่งที่จะขยับไปยังระดับ 150.00 ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญในตลาดยังเน้นสามระดับด้วยกัน ได้แก่ การปรับฐานที่ Fibo 38.2% (รูปแบบ head and shoulders) ที่ 145.18, ระดับสูงสุดของปี 1999 ที่ 147.00, และระดับเป้าหมาย A=C ที่ 149.53
แนวต้านที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้ยังคงเป็นที่ 143.75 เหมือนในสัปดาห์ที่แล้ว โดยภารกิจอันดับแรกของฝั่งกระทิงคือ ขึ้นไปยืนเหนือระดับ 145.00 ทั้งนี้ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เราได้ให้บทวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาอาจขยับถึง 150.00 ในเดือนกันยายน ซึ่งอาจเป็นจริงได้ในสถานการณ์ที่ธนาคารเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยให้แนวรับของคู่นี้ไว้ที่ระดับและโซน 142.00-142.20, 140.60, 140.00, 138.35-139.05, 137.50, 135.60-136.00, 134.40, 132.80, 131.70.
ทั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญจำนวน 65% สนับสนุนความเห็นของนักวิเคราะห์จาก Bank of America โดย 25% มีความเห็นในทางตรงกันข้าม อีก 10% มีความเห็นที่เป็นกลาง ทางด้านออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 100% อยู่ฝั่งสีเขียว แต่ 10% ให้สัญญาณแล้วว่าราคามีแรงซื้อมากเกินไป (overbought) และในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 75% ที่ให้สัญญาณสีเขียวและ 25% เป็นสีแดง
นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น ไม่มีสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญใด ๆ ของญี่ปุ่นที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ นักเทรดควรรับทราบว่า วันจันทร์ที่ 19 กันยายน และวันศุกร์ที่ 23 กันยายน เป็นวันหยุดทำการในญี่ปุ่น
คริปโตเคอเรนซี: ETH หลังจาก The Merge: ดิ่งลงแทนที่จะเติบโตขึ้น
- โดยปกติ เราจะเริ่มต้นบทวิเคราะห์ด้วยข่าวบิทคอยน์ แต่ในครั้งนี้ เราจะมาทำผิดธรรมเนียมเล็กน้อย และให้ความสำคัญกับอัลท์คอยน์หลักซึ่งก็คือ Ethereum เนื่องจากว่ามีกิจกรรมที่อาจจะเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมากที่สุดในอุตสาหกรรมคริปโตในปี 2022 โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เครือข่าย ETH ได้ทำการอัปเดตครั้งใหญ่ระดับโลกที่เรียกว่า The Merge ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านเหรียญอัลท์คอยน์จากโปรโตคอล Proof-of-Work เป็น Proof-of-Stake (PoS) ซึ่งหมายความว่าความปลอดภัยของบล็อกเชนตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะได้รับประกันโดยผู้ตรวจสอบธุรกรรม แทนนักขุดเหรียญ ซึ่งผู้ตรวจสอบธุรกรรมนั้นเป็นผู้ที่ฝากเงินและวางเหรียญตนเองไว้เป็นหลักค้ำประกัน (staking)
ในขณะนี้ แทนที่จะต้องใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ผู้ตรวจสอบธุรกรรมจะใช้บันทึก Ethereum เป็นช่องทางในการตรวจสอบธุรกรรมและขุดเหรียญใหม่ ซึ่งกลไกนี้ควรช่วยพัฒนาเรื่องความเร็วและประสิทธิภาพของเครือข่ายให้สามารถประมวลผลธุรกรรมได้มากขึ้น และแก้ไขปัญหาเรื่องการเติบโตของผู้ใช้งาน นักพัฒนาอ้างว่าการอัปเดตนี้จะทำให้เครือข่ายรองรับระบบนิเวศของตลาดแลกเปลี่ยนคริปโต บริษัทให้สินเชื่อ ตลาด NFT และการใช้งานในรูปแบบอื่น ๆ ให้มีความปลอดภัยและยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ คริปโตเคอเรนซีเดิมยังถูกวิจารณ์เป็นอย่างมากในเรื่องการใช้พลังงานมหาศาล และต่อไปนี้ Ethereum จะใช้พลังงานลดลงถึง 99.9%
ผู้ที่ชื่นชอบจะเชื่อว่า การควบรวมครั้งนี้จะเป็นการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมและช่วยให้ Ethereum แซงหน้าบิทคอยน์ในมูลค่ารวมตามราคาตลาดและมูลค่าเหรียญได อย่างไรก็ตาม หลากหลายความเห็นก็มองว่ามันจะไม่ขนาดนั้น เช่น Bank of America (BofA) เชื่อว่า การอัปเดตครั้งนี้จะไม่แก้ปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมที่สูง แต่อาจนำไปสู่การยอมรับเป็นวงกว้างมากขึ้นสำหรับสถาบันต่าง ๆ การลดปริมาณการใช้พลังงานหลัง The Merge จะช่วยให้นักลงทุนบางรายสามารถซื้ออัลท์คอยน์นี้ได้เป็นครั้งแรก “ความสามารถในการซื้อ ETH และสร้างผลตอบแทนที่มีคุณภาพได้สูงขึ้น (เครดิตต่ำลงและมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ต่ำลง) ในฐานะผู้ตรวจสอบธุรกรรมหรือผ่านการค้ำประกันอาจช่วยขับเคลื่อนการยอมรับในระดับสถาบัน” BofA มีความเห็นเช่นนี้
เมลเทม เดมีเรอร์ ผู้บริหารระดับสูงจาก CoinShares ให้การคาดการณ์ในแง่ลบมากกว่า เขาเชื่อว่านักลงทุนกำลังเพิกเฉยต่อสถานการณ์โดยรวมในตลาดในช่วงกระแส The Merge และไม่มีความแน่นอนว่าสถานการณ์นี้จะดึงดูดเงินลงทุนจำนวนมากได้หรือไม่ “ความเป็นจริงมันดูน่าเบื่อกว่านั่น” “ในระดับโลกแล้ว นักลงทุนกำลังกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและดัชนีเศรษฐกิจ และผมไม่เชื่อว่าเงินจำนวนมากจะไหลเข้าสู่ ETH”
เวลาจะเป็นตัวบอกว่าตลาดจะตอบสนองต่อ The Merge อย่างไร ในระหว่างนี้ แทนที่จะเป็นช่วงขาขึ้น ราคายังคงปรับลดลง ปัจจัยกระตุ้นคือดัชนีหุ้นที่ติดลบ (S&P500, Dow Jones และ Nasdaq) ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศสถิติเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ผู้เล่นในตลาดตัดสินใจว่า ในสถานการณ์ดังกล่าว ธนาคารเฟดจะเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงินอย่างจริงจังมากขึ้น และจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% หรือ 1.0% ในสัปดาห์หน้านี้ ผลที่ตามมาคือดอลลาร์เริ่มขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่สินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงมีมูลค่าลดลง รวมถึงบิทคอยน์ และอีธีเรียม บิทคอยน์ขยับลดลงมาที่ $19,341 เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยติดลบ 15% ในรอบสัปดาห์ ส่วนด้าน ETH ลดลงมาที่ $1,403 โดย “หดตัว” 20%
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า ท่าทีมาตรการสายเหยี่ยวของธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรปจะส่งผลให้ภาพรวมในตลาดคริปโตยังคงเป็นไปในเชิงลบต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ เมื่อความต้องการในความเสี่ยงลดลง มันจะเป็นเรื่องยากที่บิทคอยน์จะยืนเหนือระดับสำคัญทางจิตวิทยาอย่าง $20,000 หรือแม้แต่ราคาต่ำสุดของวันที่ 18 มิถุนายนที่ $17,600 ซึ่งถ้ายืนเหนือระดับหลังนี้ไม่ได้ จะยิ่งเสี่ยงที่จะถูกเทขายอีกครั้ง
นักเทรดและนักวิเคราะห์ที่มีชื่อเล่นว่า filbfilb ได้ให้สัมภาษณ์กับ Cointelegraph โดยมองว่า บิทคอยน์อาจตกลงมาจากระดับปัจจุบันลงมาที่ $10,000-11,000 ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เชื่อว่า บิทคทอยน์มีความสัมพันธ์กับ Nasdaq ในระดับสูง ซึ่งอยู่ภายใต้แรงกดดันจากนโยบายธนาคารเฟดเป็นหลัก บิทคอยน์ทำหน้าที่เสมือนสินทรัพย์ที่มีควาเมสี่ยง ซึ่งไม่ใช่สินทรัพย์ป้องกันภัยจากภาวะเงินเฟ้อ
เขายังกล่าวด้วยว่า ฤดูหนาวที่จะมาถึงนี้จะเป็นบททดสอบที่จริงจังสำหรับประชาชนและนักการเมืองในสหภาพยุโรป ซึ่งผลที่ตามมาอาจกระทบต่อผู้ถือเหรียญระยะยาว (hodlers) สิ่งสำคัญก็คือ ประเทศโลกเก่านั้นจะรับมือกับวิกฤติพลังงานนี้อย่างไร เขามองว่า ทุกอย่างนั้นอยู่ในเนื้อมือของบรรดานักการทูตที่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะไม่เช่นนั้น สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอาจต้องเผชิญกับอนาคตที่ยากลำบาก ซึ่งจะส่งผลต่อสกุลเงินคริปโตเช่นกัน การเจรจาระหว่างรัสเซียและนาโตก็เป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเริ่มขึ้นเร็วเท่าไร ราคาต่ำสุดจะยิ่งสูงขึ้นสำหรับบิทคอยน์ filbfilb เน้นย้ำ
ความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาอาศัยของ BTC ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในเดือนสิงหาคมและถือว่าต่ำที่สุดในรอบปี อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และบริการจาก TradingView ชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบิทคอยน์และดัชน S&P500 ขยับถึง 0.59 สถานการณ์นี้คล้ายกันกับดัชนี Nasdaq โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงมาที่ 0.31 ในเดือนสิงหาคม และขยับขึ้นเป็น 0.62 ในเดือนกันยายน นักวิเคราะห์เตือนว่า การพึ่งพาอาศัยของคริปโตต่อตลาดหุ้นสูงมากหลังจากดัชนีความสัมพันธ์ขยับขึ้นมากกว่า 0.5 และเมื่อถึง 0.7 จะเป็นระดับความพึ่งพาอาศัยที่เหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีทัศนคติในแง่ลบ แต่ก็ยังมีความหวังที่เราจะได้เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง filbfilb ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นเรียกการทะยานขึ้นของราคาในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2023 ว่าจะเกิดขึ้น “อย่างชัดเจน” โดยให้เหตุผลสองประการคือ ข้อแรกเป็นปัจจัยตามฤดูกาล เทรนด์ขาลงสิ้นสุดลง 1000 วันหลังจากการ Halving (ซึ่งจะเกิดขึ้นต้นปีหน้า) ประการที่สองคือ การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาพอารมณ์เชิงบวก โดยอ้างอิงจากทฤษฎีเกม ซึ่งมีความน่าจะเป็น 2 ใน 3 ที่ยุโรปจะรอดจากฤดูหนาวที่จะถึงนี้ แต่หากสถานการณ์เลวร้ายมาก จะยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่การเจรจากับรัสเซียจะนำไปสู่เสถียรภาพในระยะสั้น
Rager นักวิเคราะห์คริปโตเคอเรนซีไม่เชื่อในแนวโน้มขาลงของ BTC ไปที่ $12,000 เขากล่าวว่า มันไม่มีอะไรมาการันตีเรื่องราคาบิทคอยน์ได้ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่สินทรัพย์นี้กำลังวางราคาต่ำสุดของตลาดหมีไว้เหนือ $19,000 Rekt Capita นักวิเคราะห์และนักเทรดอีกท่านหนึ่งเชื่อว่า ทุกอย่างกำลังเดินไปยังระยะสุดท้ายของแนวโน้วขาลงสำหรับบิทคอยน์ “ส่วนที่สำคัญที่สุดของตลาดหมี BTC อยู่ข้างหลังเราแล้ว และตลาดกระทิงทั้งตลาดรอเราอยู่ข้างหน้า ราคาต่ำสุดของตลาดหมีจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม หรือต้นไตรมาสที่ 1 ปี 2023”
นักเทรดเน้นย้ำว่า สถิติต่าง ๆ ชี้ว่าราคา BTC อาจขึ้นไปถึง 200% แต่มีคำเตือนอยู่อย่างหนึ่งก็คือ บิทคอยน์อาจทรุดลงหนักกว่าเดิมก่อนที่มันจะขยับขึ้น “แน่นอนว่าในระยะสั้นนั้น BTC อาจขยับลง 5-10%” Rekt Capital เขียนต่อ “แต่ในระยะยาว การทะยานขึ้น 200% มีความเป็นไปได้สูง”
แม้ว่า BTC จะมีมูลค่าลดลง MicroStrategy ยังคงเดินหน้าเก็บสะสมบิทคอยน์ต่อไป โดยมีรายงานว่าบริษัทจะขายหุ้นมูลค่า $500 ล้านดอลลาร์ โดยวัตถุประสงค์ของการขายหุ้นนี้จะเป็นไปเพื่อซื้อคริปโตเคอเรนซีเพิ่ม
ก่อนหน้านี้ ไมเคิล เซย์เลอร์ ผู้ก่อตั้ง MicroStrategy ได้ถอนตัวจากตำแหน่งซีอีโอเพื่อให้ความสำคัญกับแผนการของบริษัทในการซื้อบิทคอยน์ โดย MicroStrategy ครอบครองบิทคอยน์เพิ่มขึ้นภายใต้การบริหารงานของเขา จึงกลายเป็นบริษัทรายใหญ่ที่สุดที่ถือครองสินทรัพย์คริปโตนี้ ณ ตอนนี้ บริษัทเป็นเจ้าของบิทคอยน์ทั้งหมด 129,699 เหรียญ ซึ่งซื้อในอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ $30,664 และมีการซื้อเหรียญครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (480 BTC)
ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 16 กันยายน) การลงทุนใน MicroStrategy นั้นถือว่าติดลบเป็นอย่างมาก เพราะ BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $19,730 (ETH/USD - $1,435) และเป็นอีกครั้งที่มูลค่ารวมตามราคาตลาดคริปโตลดลงต่ำกว่าระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ $1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยอยู่ที่ $0.959 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.042 ล้านล้านเหรียญเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ลดลง 2 จุดในรอบเจ็ดวัน จาก 22 เหลือ 20 และยังคงอยู่ในโซน Extreme Fear
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ