อันดับแรกเป็นการทบทวนเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว:
- EUR/USD ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และยุโรปที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นเท่านั้น แต่รวมถึง “แครีเทรด” (carry trade) ซึ่งส่งแรงเสริมต่อสกุลเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะดอลลาร์และยูโรอีกด้วย ทั้งนี้ สกุลเงินสำรองส่วนใหญ่นั้นเป็นสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ การใช้กลยุทธ์แครีเทรด นักเทรดจะยืมเงินและจากนั้นจากฝากเงินนั้นด้วยเงินอีกสกุลหนึ่ง เช่น ของประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า และ ณ บัดนี้ ระดับความเสี่ยงที่ลดลงส่งผลให้ข้อตกลงในรูปแบบนี้เริ่มถูกละทิ้ง และส่งผลให้ EUR และ USD แข็งค่าขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการที่อัตราแลกเปลี่ยนคู่นี้แข็งตัว ในช่วงครึ่งแรกของสัปดาห์ดูจะเป็นฝั่งดอลลาร์ที่ได้เปรียบ จากนั้นนักลงทุนก็เริ่มซื้อเงินยูโรราคาถูกตั้งแต่วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ ทำให้ราคาที่เปิดสัปดาห์ที่ 1.2120 กลับมาปิดตลาด ณ ที่เดิมที่ระดับ 1.2115
- GBP/USD เงินปอนด์ยังคงขยับขึ้นเหนือต่อเนื่อง เข้าใกล้ระดับสูงสุดของปี 2018 ราคาคู่นี้ได้ตัดผ่านระดับจิตวิทยาที่สำคัญที่ 1.4000 เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ ทำสถิติสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่บริเวณ 1.4035 และปิดตลาดที่ระดับเดิม คือ 1.4000 หลังจากมีการรีบาวด์เล็กน้อย
ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเทียบกับเงินปอนด์ หลังจากมีสถิติที่อ่อนแอจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ นักลงทุนคาดว่าจำนวนยอดการขอใช้สวัสดิการว่างงานในสหรัฐฯ จะลดลงจาก 848,000 เป็น 765,000 แต่ตัวเลขจริงกลับสูงขึ้นที่ 861,000 ในรอบสัปดาห์ จำนวนยอดสำรองก็ไม่น่าประทับใจเช่นกัน โดยลดลงจาก 4.558 เหลือ 4.494 ล้านราย แทนที่ตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 4.413 ล้าน นักลงทุนรีบนึกย้อนถึงคำแถลงของธนาคารเฟดว่า จะใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีที่สถานการณ์ตลาดแรงงานจะกลับมาเหมือนที่ระดับเดิม และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการใหม่ในการสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ
แต่สถิติตลาดผู้บริโภคและกิจกรรมทางธุรกิจซึ่งประกาศในสหราชอาณาจักรเมื่อสัปดาห์ที่แล้วดูค่อนข้างดี ดัชนี Markit ในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 49.7 จาก 39.5 ซึ่งไม่ไกลจาก 50 เท่าไรนัก ตัวเลขเหล่านี้ช่วยยืนยันความเชื่อมั่นของฝั่งผู้ซื้อเงินปอนด์ว่า ธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะหลีกเลี่ยงการจัดสรรเงินรอบใหม่ภายใต้โครงการ QE และจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ด้วยเหตุนี้ อัตราแลกเปลี่ยน GBP/USD จึงขยับขึ้นและทำระดับสำคัญที่ 1.4000 - USD/JPY แนวโน้มหลักของคู่นี้ รวมถึง EUR/USD ถูกกำหนดโดยข้อมูลสถิติที่น่าผิดหวังจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่สูงขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ข้อมูล GDP ญี่ปุ่นที่ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ แม้ว่าจะดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ (3.0% จากที่คาดการณ์ 2.3%) กลับไม่ส่งผลใด ๆ ต่อสภาพตลาด จึงเป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนของคู่นี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในสหรัฐฯ มากกว่า
ก่อนหน้านี้ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มเกือบเท่ากัน: 40% สนับสนุนแนวโน้มขาขึ้น 30% โหวตให้กับขาลงและเทรนด์ด้านข้าง และโดยรวมแล้วถือว่าทุกฝ่ายทำนายได้ถูกต้อง ในช่วงครึ่งแรกของสัปดาห์ ราคาได้ขยับขึ้นถึง 106.20 จากนั้นก็ปรับตัวลงมา และปิดตลาดรอบห้าวันทำการใกล้กับบริเวณที่เริ่มเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ 105.40 - คริปโตเคอเรนซี อย่างที่เราคาดการณ์ไว้ บิทคอยน์ทำระดับ $50,000 และตอนนี้อยู่ที่ $55,000 ณ เวลาที่กำลังเขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา บิทคอยน์ทำราคาขึ้นมา 60% ส่วน (ETH/USD) ขึ้นมาน้อยกว่านิดเดียวที่ 50% และผู้นำอันดับหนึ่งคือ Litecoin (LTC/USD) ขึ้นมาถึง 80%
โดยทั่วไป สถานการณ์ในตลาดเงินดิจิทัลค่อนข้างเป็นบวก แม้แต่สถาบันที่อนุรักษ์นิยมสูงอย่าง ธนาคารสัญชาติอเมริกันยังหันมาให้ความสนใจกับทิศทางนี้ ธนาคารเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ BNY Mellon ได้ประกาศการเริ่มทำงานกับบิทคอยน์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ด้าน JPMorgan Chase อีกหนึ่งธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนการเทรดบิทคอยน์ โดยมีรายงานว่า JPMorgan Chase ได้จัดการประชุมเสมือนจริงในเดือนมกราคมกับนักเทรดและนักขายมืออาชีพรอบโลกกว่าหลายพันคน ซึ่งมีคำถามเกี่ยวกับความสนใจในการเทรด BTC และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Goldman Sachs ธนาคารอีกแห่งหนึ่งได้จัดการประชุมแบบปิดสำหรับพนักงานและลูกค้าในหัวข้อคริปโตเคอเรนซี ซึ่งนายไมค์ โนโวกราตซ์ ซีอีโอ Galaxy Digital เป็นผู้บรรยายหลัก
คำกล่าวของนักการเมืองสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่หลายคนก็ส่งผลดีต่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นกัน ตัวอย่างเช่น นายฟรานซิส ซัวเรซ ผู้ว่าการรัฐไมอามี ได้ประกาศว่า เขาได้ดำเนินมาตรการหลายขั้นตอนแล้วที่จะทำให้เงินคริปโตถูกกฎหมาย “เราทำให้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่ซื้อขายได้กับนักลงทุน นอกจากนี้ พนักงานยังสามารถรับเงินเดือนเป็นเงินคริปโต ซึ่งถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่ง” เขาเขียนบนทวิตเตอร์ นายแอนดริว ยัง ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการนิวยอร์ก และอดีตผู้ลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็สนับสนุนเพื่อนร่วมงานของเขาเช่นกัน โดยกล่าวว่าเขาจะพยายามทำให้ศูนย์กลางทางการเงินของโลกกลายเป็นศูนย์กลางของคริปโตเคอเรนซีด้วย ด้านนายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานธนาคารเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ เรียกบิทคอยน์ว่าเป็นคู่แข่งของทองคำ
นักลงทุนรายสถาบันยังคงซื้อทั้งเงินคริปโตและหน่วยในกองทุนนักขุดและเงินคริปโต ด้าน Grayscale Investment ได้ซื้อเหรียญ 20,000 ETH เข้าในพอร์ตอีธีเรียมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้มูลค่ารวมเพิ่มเป็น $6 พันล้านดอลลาร์ อีกหนึ่งแรงกระตุ้นของ BTC/USD คือการตัดสินใจของ MicroStrategy ที่เพิ่มเงินอีก $900 ล้านเหรียญในการซื้อบิทคอยน์
โดยรวมแล้ว อัตราส่วนอุปสงค์/อุปทานยังคงเข้าข้างบิทคอยน์ :150,000 BTC ถูกขุดขึ้นและเกือบ 360,000 ถูกซื้อกลับในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมาของปี 2020 โดยนักลงทุนหวังว่ายอดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
ในขณะเดียวกัน นักลงทุนยังคงจับตาดู นายอีลอน มัสก์ ประธาน Tesla ซึ่งคอยทวีตข้อความที่ดันราคาขึ้นไปอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ของสหรัฐฯ ก็มีความสนใจใน “ความสร้างสรรค์” ของเขาบนทวิตเตอร์ โดยพิจารณาว่าการที่เศรษฐีพันล้านรายนี้บอกให้มีการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลถือว่าเป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมายการนำเสนอและโฆษณาสินทรัพย์ และอาจถือว่าเป็นกิจกรรมโบรกเกอร์ที่ไม่ได้จดทะเบียน และความพยายามในการปั่นป่วนตลาด หากพิสูจน์ว่าเป็นจริง นายอีลอน มัสก์ อาจต้องเผชิญกับโทษปรับมหาศาล ในระหว่างนี้ ตัวเขาเองบอกว่าเขาจะไปพักและจะไม่โพสต์ทวีตข้อความอีกต่อไป หรืออย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้
สำหรับมูลค่ารวมในตลาดเงินคริปโต แม้ว่าจะไม่มีข้อความของนายมัสก์ ก็เพิ่มขึ้นมาจาก $1,458 พันล้านเป็น $1,625 พันล้านดอลลาร์ และดัชนี Crypto Fear & Greed Index ก็เข้าใกล้ระดับสูงสุดที่ 100 จุดอย่างช้า ๆ โดยตอนนี้อยู่ที่ 93 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดมีความร้อนแรงสูง
สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:
- EUR/USD สหภาพยุโรปยังคงอยู่ภายใต้มาตรการจำกัดเนื่องด้วยภาวะการระบาดของ COVID-19 แต่ในสหรัฐฯ ไม่ใช่ทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คาดหวัง สถิติที่อ่อนแอจากตลาดแรงงาน ยอดขอใช้สวัสดิการว่างงานที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลเป็นแรงกดดันต่อเงินดอลลาร์
ทั้งนี้ เข้าใจได้จากคำแถลงของผู้บริหารธนาคารกลางยุโรปว่า แม้ว่าผลตอบแทนในพันธบัตรของยุโรปจะปรับขึ้นต่อเนื่อง ธนาคารก็ไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เจ้าหน้าที่จากสภาบริหาร ECB เชื่อว่า มาตรการที่พวกเขาดำเนินการนั้นค่อนข้างเพียงพอแล้ว แค่ต้องอาศัยเวลาให้เกิดผลลัพธ์อย่างสมบูรณ์
สถานการณ์นี้กลับตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิงในอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก จากคำเรียกร้องของนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรส และรายงานของธนาคารเฟดที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ชี้ว่า ปริมาณ QE ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นโยบายทางการเงินที่ผ่อนปรนจนมีผลต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะมีการเติบโตอย่างมั่นคง โดยมาตรการถัดไปจะเป็นการออกมาตรการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า $1.9 ล้านล้านดอลลาร์
ในสถานการณ์เช่นนี้ควรคาดหวังว่าดอลลาร์น่าจะอ่อนค่าลงในระยะกลาง และคู่ EUR/USD จะขยับขึ้นในตอนแรกไปยังโซน 1.2200-1.2300 และจากนั้นจะกลับมาที่ระดับสูงสุดของเดือนมกราคมที่ 1.2350 ส่วนนักวิเคราะห์ 65% เห็นด้วยกับสถานการณ์นี้เช่นกัน แต่ในการวิเคราะห์รายสัปดาห์ให้ภาพแตกต่างออกไป
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (70%) เชื่ือว่า ราคาจะทดสอบแนวรับอีกครั้งในโซน 1.2020 ในอนาคตอันใกล้ และจะพยายามขยับถึงระดับต่ำสุดของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ 1.1955 แนวโน้มขาลงสนับสนุนโดยออสซิลเลเตอร์ 15% ในกรอบ H4 และ D1 ซึ่งให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในช่วง overbought
ส่วนออสซิลเลเตอร์ที่เหลือ รวมถึงอินดิเคเตอร์เทรนด์ 75% ให้สัญญาณสีเีขยว แต่การวิเคราะห์กราฟบนกรอบเวลาทั้งสองให้กรอบราคาแข็งตัวที่ช่วง 1.2020-1.2155
สำหรับเหตุการณ์สำคัญของสัปดาห์ ได้แก่ คำแถลงของ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปในวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ และของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดต่อที่ประชุมสภาคองเกรสในวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ รวมถึงสถิติ GDP รายปี และปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าทุนและสินค้าคงทนในสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ - GBP/USD ชัดเจนว่าอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์ 85% ในกรอบ H4 และ D1 ชี้ไปยังทิศเหนือ ส่วนออสซิลเลเตอร์ 15% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในช่วง overbought ส่วนนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (75%) ก็กำลังรอให้ราคาปรับฐานลงทิศใต้ จริงอยู่ที่ความเห็นของพวกเขาชี้ว่ามันอาจไม่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ แต่อาจเป็นช่วงครึ่งแรกของเดือนมีนาคม โดยให้แนวรับไว้ที่ 1.3950, 1.3850, 1.3775, 1.3600
โอกาสที่เงินปอนด์จะทะยานขึ้นต่อไปก็ยังไม่หมดลงในตอนนี้ และทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับปัญหาเชิงโครงสร้างของทั้งสองฝั่ง สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ว่าของใครจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินของตนเองมากกว่ากัน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องนโยบาย QE และอัตราดอกเบี้ย แต่รวมถึงประเด็นและผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลด้วย อีกทั้งความเสี่ยงระดับเงินเฟ้อสูงอันเนื่องมาจากการใช้จ่ายงบประมาณที่สูงเกินไป
เราได้ให้ภาพรวมไปแล้วในส่วนแรกของบทวิเคราะห์นี้ว่า สถิติจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่งผลต่อพฤติกรรมราคาคู่นี้อย่างไร สถิติมหภาคที่คล้ายกันของตลาดแรงงานสหราชอาณาจักรนั้นจะมีการรายงานในสัปดาห์นี้ วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ และหากว่าผลลัพธ์ออกมาดี คุณอาจได้เห็นราคา GBP/USD ขยับขึ้นต่อไป เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ คำแถลงของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรหนึ่งวันก่อนหน้า แต่ก็มีแนวโน้มสูงที่ นายบอริส จอห์นสัน จะไม่มีระบุอะไรชัดเจนมากและจะพูดถึงความสำเร็จของคณะรัฐมนตรีของเขาในการต่อสู้กับไวรัสอย่างตั้งอกตั้งใจ รวมถึงการฉีดวัคซีน และความสัมพันธ์กับอียูหลังเบร็กซิต - USD/JPY 104.40-105.40 คือโซนที่ราคาคู่นี้ได้ไปแตะแล้วหลายครั้งในช่วง 30 สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงถือได้ว่าเป็นระดับ Pivot Pint ของกรอบด้านข้างในระยะกลางที่ 102.60-107.00 นอกจากนี้ การผันผวนในการเทรดที่ 440 จุด ในรอบครึ่งปีนั้นถือว่าไม่มากเท่าไรนัก เช่น ในเดือนตุลาคม ราคาขยับเพียงแค่ 240 จุดในหนึ่งวัน
ในขณะนี้ มีผู้เชี่ยวชาญเพียง 35% เท่านั้นที่เชื่อว่า ราคายังขยับขึ้นไม่สุดถึงกรอบด้านบน จริงอยู่ที่ออสซิลเลเตอร์ 75% และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 80% บน D1 เข้าข้างพวกเขา ซึ่งให้น้ำหนักเพิ่มเติมกับคำทำนายนี้ ระดับแนวต้านวางไว้ที่ 105.70, 106.20 และเป้าหมายคือ 107.00
มุมมองตรงกันข้ามเป็นของนักวิเคราะห์ 65% โดยตัวเลขนี้เพิ่มเป็น 80% เมื่อปรับจากรายสัปดาห์มาเป็นรายเดือน พวกเขามีอินดิเคเตอร์จำนวนใกล้เคียงกันที่เห็นด้วยในกรอบ H4 โดยแนวรับ ได้แก่ 105.00, 104.40, 103.60 และเป้าหมายคือ 102.60
การวิเคราะห์กราฟแสดงถึงความผันผวนของคู่ในช่วง 104.40-106.20 โดยฝั่งตลาดหมีเป็นฝั่งได้เปรียบ
- คริปโตเคอเรนซี เมื่อราคาบิทคอยน์เพิ่มขึ้นก็มีผู้ซื้อในตลาดน้อยลง กลุ่มที่ระมัดระวังมากที่สุดก็ออกตลาดไปตั้งแต่เดือนธันวาคม เมื่อราคาทำระดับสูงสุดที่ $20,000 รอบถัดไปในการปิดคำสั่งซื้อคือเมื่อราคาขยับขึ้นไปยัง $40,000 จึงมีเพียงแค่นักลงทุนจอมถึกและแฟนตัวยงของเงินคริปโตเท่านั้นที่ตามมาถึงระดับ $50,000
บิทคอยน์อยู่ในช่วง overbought แต่หลังจากราคาแตะถึง $55,000 เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ ก็ไม่มีการรีบขายอีกต่อไป ตลาดแช่แข็งอย่างคาดหวัง และมีสัญญาณเตือนภัยเริ่มปรากฏแล้ว
อันดับแรก ของสัดส่วนของผู้ขายเพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มจาก 18% เป็น 35% ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประการที่สอง นักเทรดประมาณ ⅔ ซื้อฟิวเจอร์สโดยใช้อัตราทด ทำให้อัตราการเติมเงินและค่าธรรมเนียมในการคงตำแหน่งซื้อนั้นสูงขึ้น และประการที่สามของสัดส่วนผู้ขุดเหรียญลดลง
ตามรายงานของ CoinDesk รายได้รอบสัปดาห์ของผู้ขุดเหรียญบิทคอยน์ทำนิวไฮที่ $354 ล้านเหรียญ ตั้งแต่วันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ สถิติล่าสุดในรอบเจ็ดวันคือ $340 ล้านเหรียญเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2017 แต่แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดี หุ้นของบริษัท Riot Blockchain ปรับลงมา 20% เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันะ์
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะรอคอยช่วงฤดูหนาวเงินคริปโตรอบใหม่ แม้ว่าจะเป็นรอบที่ถลำลึก แต่ก็น่าจะเป็นแค่การปรับฐาน นอกจากนี้ แม้จะมีปริมาณเล็กน้อยแต่ก็มีความเป็นไปได้ที่บิทคอยน์จะเติบโตต่อไปที่ $60,000-65,000 ถึงแม้จะอย่างเฉื่อยชาก็ตาม และคลื่นในการซื้อบิทคอยน์รอบใหม่อาจกระตุ้นโดย FOMO - หรืออาการกลัวไม่ได้กำไร (กลัวตกรถ) เพราะถึงอย่างไร ความกลัวและความโลภก็คือสิ่งที่ขับเคลื่อนตลาดแห่งนี้
ลิซา เอดวาร์ดส์ น้องสาว ของนายเคร็ก ไรวต์ ผู้อ้างตัวว่าก่อตั้งบิทคอยน์ ได้ทำนายว่าราคาเหรียญจะขึ้นไปถึง $142,000 จากทฤษฎี Elliot Wave Theory เดิมเธอชี้ว่าบิทคอยน์จะขยับขึ้นถึง $90,000 ภายในเดือนพฤษภาคม 2021 และลดลงมาที่ $55,000 ในเดือนมกราคม 2022 และทะยานขึ้นไปที่ $142,000 ในเดือนมีนาคม 2023 หลังจากนั้น เธอมองว่าตลาดเงินคริปโตจะเจอกับเทรนด์ตลาดหมี
แต่แม้ว่าการเติบโตของคู่ BTC/USD อาจไปต่อได้ในอนาคตอันใกล้ คุณจำเป็นจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะเข้าซื้อในช่วงระดับราคา ณ ปัจจุบัน นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าสิ่งนี้มีความเสี่ยงสูงมาก และแนะนำให้รอราคาปรับฐานลงมา ค่อยเปิดคำสั่งซื้อใหม่
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ